ผลการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีต่อความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

ผลการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีต่อความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

งานวิจัยครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนหลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม และ 2) เปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 จำนวน 1 ห้องเรียน มีนักเรียนจำนวน 42 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม และ 2) แบบวัดความสามารถในการแก้ปัญหา วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย ค่าเฉลี่ยร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม มีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการแก้ปัญหาเท่ากับ 22.83 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 63.43 ซึ่งสูงกว่าระดับดีขึ้นไป อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 2) นักเรียนที่เรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม มีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการแก้ปัญหาหลังทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69975

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์” เดือน สิงหาคม 2564


ผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

ผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง ศึกษาความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ และผลของการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีของนักเรียน ดำเนินการวิจัยออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่แบบวัดความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีค่าความเที่ยง 0.89 การวิจัยระยะที่ 2 เป็นการทดลองเบื้องต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เปรียบเทียบความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระหว่างก่อนและหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ และ (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีของนักเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์กับเกณฑ์ กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยคือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ (1) แบบวัดความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีค่าความเที่ยง 0.89 และ(2) แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมี เรื่อง กฎของแก๊ส ที่มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.95 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงมาตรฐาน สถิติทดสอบที (t-test) และกำหนดเกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีโดยใช้คะแนนจุดตัด (Cut-off score) ซึ่งพิจารณาจากสัมประสิทธิ์ฟี (Phi coefficient) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ร้อยละ 27.34 นักเรียนที่มีความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับซับซ้อนบางส่วนสามารถระบุตัวแปรอิสระได้ถูกต้อง แต่ยังตั้งคำถามเชิงสาเหตุและตั้งสมมติฐานได้แบบไม่สมบูรณ์ ในขณะที่นักเรียนที่มีความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับซับซ้อนน้อยระบุตัวแปรอิสระไม่ได้ ตั้งคำถามเชิงสาเหตุแบบไม่สมบูรณ์และตั้งสมมติฐานด้วยประโยคคำถาม 2. หลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ ส่งผลให้นักเรียนมีคะแนนความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์สูงกว่าคะแนนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. หลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ส่งผลให้นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีหลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/70033

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์” เดือน สิงหาคม 2564


ผลการใช้กลยุทธ์แนวเทียบร่วมกับวงจรการเรียนรู้ 5E ต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

ผลการใช้กลยุทธ์แนวเทียบร่วมกับวงจรการเรียนรู้ 5E ต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยกลยุทธ์แนวเทียบร่วมกับวงจรการเรียนรู้ 5E 2) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์หลังเรียนของนักเรียนระหว่างกลุ่มที่เรียนรู้ด้วยกลยุทธ์แนวเทียบร่วมกับวงจรการเรียนรู้ 5E กับกลุ่มที่เรียนรู้ด้วยรูปแบบวงจรการเรียนรู้ 5E และ 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีหลังเรียนของนักเรียนระหว่างกลุ่มที่เรียนรู้กลยุทธ์ด้วยแนวเทียบร่วมกับวงจรการเรียนรู้ 5E กับกลุ่มที่เรียนรู้ด้วยรูปแบบวงจรการเรียนรู้ 5E กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 กรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 2 ห้องเรียน รวม 100 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองจำนวน 53 คน และกลุ่มควบคุมจำนวน 47 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แบบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ที่มีค่าความเที่ยงฉบับก่อนเรียนเท่ากับ 0.64 ฉบับหลังเรียนเท่ากับ 0.67 และ 2) แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.46 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบที (t-test) การศึกษาพัฒนาการ (normalized gain) และขนาดของผล (effect size) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยกลยุทธ์แนวเทียบร่วมกับวงจรการเรียนรู้ 5E มีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการคิดวิเคราะห์หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยกลยุทธ์แนวเทียบร่วมกับวงจรการเรียนรู้ 5E มีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการคิดวิเคราะห์สูงกว่านักเรียนที่เรียนรู้ด้วยวงจรการเรียนรู้ 5E อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยกลยุทธ์แนวเทียบร่วมกับวงจรการเรียนรู้ 5E มีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักเรียนที่เรียนด้วยวงจรการเรียนรู้ 5E อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/64757

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์” เดือน สิงหาคม 2564


ผลการจัดการเรียนรู้โดยใช้บริบทเป็นฐานที่มีต่อการรู้เคมีของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

ผลการจัดการเรียนรู้โดยใช้บริบทเป็นฐานที่มีต่อการรู้เคมีของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

งานวิจัยนี้มีมีรูปแบบงานวิจัยเป็นแบบทดลองเบื้องต้นหนึ่งกลุ่มวัดครั้งเดียว วัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการรู้เคมีในแต่ละองค์ประกอบ ประกอบด้วย องค์ประกอบความรู้เนื้อหาทางเคมี การประยุกต์ใช้บริบททางเคมี ทักษะการเรียนรู้ระดับสูง และเจตคติต่อเคมีของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้บริบทเป็นฐานกับเกณฑ์มาตรฐาน กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ที่เรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ของโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 36 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยนี้ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้บริบทเป็นฐาน ในเนื้อหาเรื่อง กรด – เบส จำนวน 4 แผน รวมระยะเวลา 6 สัปดาห์ และแบบวัดการรู้เคมีที่มีค่าความเที่ยงด้านพุทธิพิสัย 0.82 และด้านจิตพิสัย 0.94 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติทดสอบ t-test ของกลุ่มตัวอย่างหลังเรียนเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ได้จากการหาคะแนนจุดตัดด้วยวิธีการของเบอร์ก ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้บริบทเป็นฐาน มีองค์ประกอบของการรู้เคมีสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 ทุกองค์ประกอบ (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69974

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์” เดือน สิงหาคม 2564


การพัฒนาการรู้สภาพภูมิอากาศของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบร่วมกับการใช้เกม

การพัฒนาการรู้สภาพภูมิอากาศของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบร่วมกับการใช้เกม

การบรรเทาความรุนแรงของปัญหาสภาพภูมิอากาศเป็นหน้าที่ของพลเมืองโลกทุกคน การพัฒนาให้เยาวชนมีการรู้สภาพภูมิอากาศจึงเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วน จากความเชื่อว่าการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบที่สนับสนุนให้นักเรียนสร้างความรู้ด้วยตนเองผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเกมสนับสนุนการเรียนรู้อย่างมีความหมายจากประสบการณ์ในสถานการณ์สมมติ จึงนำมาสู่การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบร่วมกับการใช้เกมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการรู้สภาพภูมิอากาศของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาต้น การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้นโดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 1 ห้องเรียนจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดน่านที่ได้จากจากการเลือกแบบเจาะจง เนื่องจากบริบททางการเกษตรของชุมชนเป็นพื้นที่เปราะบางในการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากกิจกรรมทางการเกษตรและได้รับภัยพิบัติที่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือแผนการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบร่วมกับการใช้เกมจำนวน 6 แผนที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบ 5 ขั้นตอนร่วมกับเกมที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ การสร้างความสนใจ การสำรวจและค้นหา การขยายความรู้ และการประเมิน โดยรวบรวมข้อมูลจากแบบวัดความเข้าใจสภาพภูมิอากาศ และแบบวัดความตระหนักต่อสภาพภูมิอากาศ ผลการวิจัยพบว่านักเรียนมีการรู้สภาพภูมิอากาศหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยระดับการรู้สภาพภูมิอากาศเพิ่มจากระดับไม่มีความสนใจในประเด็นสภาพภูมิอากาศเป็นระดับมีความสนใจในประเด็นสภาพภูมิอากาศ นักเรียนมีแนวโน้มในการพัฒนาการรู้สภาพภูมิอากาศไปสู่ระดับมีการแสดงออกของพฤติกรรมภายใต้เงื่อนไขที่สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน การเลือกประเด็นที่นำเสนอในการจัดการเรียนรู้ควรจะนำไปประยุกต์ได้จริงในชีวิตประจำวัน (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/64768

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์” เดือน สิงหาคม 2564


การพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงระบบเรื่อง ระบบร่างกายมนุษย์ ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้วัฏจักรการเรียนรู้ 5E ร่วมกับผังกราฟิกเชื่อมโยงความคิด

การพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงระบบเรื่อง ระบบร่างกายมนุษย์ ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้วัฏจักรการเรียนรู้ 5E ร่วมกับผังกราฟิกเชื่อมโยงความคิด

การวิจัยครั้งนี้เป็นการทดลองเบื้องต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อ วิเคราะห์พัฒนาการความสามารถในการคิดเชิงระบบ เรื่อง ระบบร่างกายมนุษย์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 5E ร่วมกับการใช้ผังกราฟิกเชื่อมโยงความคิด กลุ่มที่ศึกษา คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 กระทรวงศึกษาธิการ ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 ห้องเรียน (25 คน) การวิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวมข้อมูล คือ (1) แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 5E ร่วมกับผังกราฟิกเชื่อมโยงความคิด และ (2) แบบประเมินการคิดเชิงระบบ เรื่อง ระบบร่างกายมนุษย์ จำนวน 5 แบบประเมิน ที่ใช้ในการตรวจผังมโนทัศน์การคิดเชิงระบบของนักเรียนที่ตอบคำถามสำคัญเกี่ยวกับ ระบบหมุนเวียนเลือด ระบบหายใจ ระบบขับถ่าย ระบบประสาท และหัวข้อประยุกต์หลายระบบภายในร่างกาย ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน คะแนนที และร้อยละคะแนนพัฒนาการ ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความสามารถในการคิดเชิงระบบเรื่อง การประยุกต์รวมระบบร่างกายมนุษย์ อยู่ในระดับปานกลาง ระบบร่างกายที่นักเรียนส่วนใหญ่มีการคิดเชิงระบบระดับสูง คือ ระบบหมุนเวียนเลือด ระบบร่างกายที่นักเรียนส่วนใหญ่มีการคิดเชิงระบบระดับปานกลาง คือ ระบบหายใจ และระบบขับถ่าย และระบบร่างกายที่นักเรียนส่วนใหญ่มีการคิดเชิงระบบระดับต่ำ คือ ระบบประสาท เมื่อพิจารณาพัฒนาการความสามารถในการคิดเชิงระบบที่คำนวณค่าพัฒนาการเปรียบเทียบระหว่างเรื่อง ระบบหายใจ และการประยุกต์รวมระบบร่างกายมนุษย์ พบว่า นักเรียนมีความสามารถในการคิดเชิงระบบสูงขึ้นจำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 56.00 และนักเรียนมีความสามารถในการคิดเชิงระบบลดลงจำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 44.00 (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/70006

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์” เดือน สิงหาคม 2564


Collection