การอ้างอิงและบรรณานุกรม


ความหมายของการอ้างอิง

หมายถึง การแสดงหลักฐานรายละเอียดของเอกสารที่ใช้ประกอบการค้นคว้าและเขียนรายงาน เป็นส่วนที่ทำให้รายงานมีความน่าเชื่อถือและแสดงถึงความมีจริยธรรมทางวิชาการ ซึ่งจะมีลักษณะปรากฎทั้งในส่วนเนื้อหาและท้ายเล่ม (คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2548; ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556)


ความสำคัญของการอ้างอิง (อำไพวรรณ ทัพเป็นไทย, 2549)

  1. เพื่อบอกแหล่งที่มาของข้อมูล หรือข้อความที่นำมาอ้างถึงซึ่งผู้เขียนมิได้เขียนขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดของตนเอง แต่มีหลักฐานอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และควรเป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ
  2. เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือของงานเขียนชิ้นนั้น
  3. เพื่อเป็นการแสดงถึงความมีจริยธรรมตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ไม่ละเมิดสิทธิ์ต่อเจ้าของผลงานเดิม
  4. เพื่อให้ผู้อ่านสามารถตรวจสอบ หรือค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารต้นฉบับที่สนใจได้


การอ้างอิงส่วนเนื้อหา

จะปรากฏเมื่อผู้ทำรายงานยกข้อความ หรืออ้างคำพูด หรือนำความคิดของผู้อื่นมาอ้างไว้ในรายงานของตน ซึ่งผู้ทำรายงานจำเป็นต้องอ้างอิงที่มาของข้อมูลข้อความ ตลอดจนความคิดเหล่านั้น โดยทั่ว ๆ ไป รูปแบบที่เป็นที่นิยมมี 3 รูปแบบ ได้แก่ แบบแทรกในเนื้อหา (in-text citation) แบบเชิงอรรถ (footnote citation) และแบบอ้างอิงท้ายบท (end note citation) (คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2548; ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556)

  1. แบบแทรกในเนื้อหาหรือแบบในวงเล็บ (parenthetical citation) เป็นการอ้างถึงแหล่งข้อมูลที่ผู้ทำรายงานคัดลอก หรือสรุปสาระสำคัญ หรือถอดความ หรือนำแนวคิดมาลงไว้ในรายงานการค้นคว้า มีวัตถุประสงค์คือ ต้องการระบุแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาลงไว้ในรายงาน โดยบอกอย่างย่อ ๆ แล้วโยงให้ผู้อ่านที่สนใจไปดูรายละเอียดของเอกสาร หรือแหล่งข้อมูลนั้น ๆ โดยรายละเอียดของเอกสารจะปรากฏในส่วนท้ายเล่มของรายงาน (พูลสุข เอกไทยเจริญ, 2551) มี 2 ระบบ คือ
    • ระบบนามปี (author-date) เป็นการอ้างอิงโดยลงชื่อผู้แต่ง และปีพิมพ์
    • ระบบตัวเลขหรือหมายเลข (citation-sequence) โดยใช้วิธีระบุหมายเลขที่เป็นตัวแทนของเอกสารที่อ้างอิง ซึ่งแต่ละหมายเลขที่อ้างอิงในเนื้อหาต้องตรงกับรายการเอกสารในส่วนท้ายเล่ม
  2. แบบเชิงอรรถ (footnote citation) เป็นวิธีการอ้างอิงโดยแยกส่วนเนื้อหากับการอ้างอิงออกจากกัน แต่อยู่ภายในหน้าเดียวกัน โดยให้การอ้างอิงอยู่ส่วนล่างของหน้ากระดาษมีเส้นขีดคั่น เนื้อหาส่วนที่ต้องการอ้างให้ลงหมายเลขกำกับ เรียงลำดับการอ้าง (คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2548)
  3. แบบอ้างอิงท้ายบท (End note) เป็นการอ้างอิงที่แยกการอ้างอิงไว้คนละส่วนกับเนื้อหาเช่นเดียวกัน โดยใส่หมายเลขกำกับเช่นเดียวกับเชิงอรรถใส่หมายเลขต่อเนื่องกันไปจนจบในแต่ละบท โดยใช้รูปแบบเช่นเดียวกับการอ้างอิงเชิงอรรถ รายการอ้างอิงทั้งหมดจะไปรวมอยู่หน้าสุดท้ายของแต่ละบท (คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2548)

การอ้างอิงส่วนท้ายเล่ม (อำไพวรรณ ทัพเป็นไทย, 2549)

คือ ส่วนการอ้างอิงที่อยู่ตอนท้ายเล่มของรายงาน มีการจัดเรียงและบันทึกรายการต่าง ๆ ตามรูปแบบ มี 2 ลักษณะ ได้แก่

  • รายการอ้างอิง (references) การนำรายการที่อ้างอิงในเนื้อหาทั้งหมดมารวบรวมไว้ตอนท้ายเล่มของรายงาน
  • บรรณานุกรม (bibliography) คือ รายการเอกสารทั้งหมดที่ผู้ทำรายงานใช้ประกอบการค้นคว้า