ผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย
ผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

ผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง ศึกษาความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ และผลของการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีของนักเรียน ดำเนินการวิจัยออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่แบบวัดความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีค่าความเที่ยง 0.89 การวิจัยระยะที่ 2 เป็นการทดลองเบื้องต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เปรียบเทียบความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระหว่างก่อนและหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ และ (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีของนักเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์กับเกณฑ์ กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยคือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ (1) แบบวัดความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีค่าความเที่ยง 0.89 และ(2) แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมี เรื่อง กฎของแก๊ส ที่มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.95 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงมาตรฐาน สถิติทดสอบที (t-test) และกำหนดเกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีโดยใช้คะแนนจุดตัด (Cut-off score) ซึ่งพิจารณาจากสัมประสิทธิ์ฟี (Phi coefficient) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ร้อยละ 27.34 นักเรียนที่มีความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับซับซ้อนบางส่วนสามารถระบุตัวแปรอิสระได้ถูกต้อง แต่ยังตั้งคำถามเชิงสาเหตุและตั้งสมมติฐานได้แบบไม่สมบูรณ์ ในขณะที่นักเรียนที่มีความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับซับซ้อนน้อยระบุตัวแปรอิสระไม่ได้ ตั้งคำถามเชิงสาเหตุแบบไม่สมบูรณ์และตั้งสมมติฐานด้วยประโยคคำถาม 2. หลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ ส่งผลให้นักเรียนมีคะแนนความสามารถในการให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์สูงกว่าคะแนนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. หลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ส่งผลให้นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเคมีหลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/70033

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์” เดือน สิงหาคม 2564

updated by Sumal Chausaraku

views 578