สำนักงานวิทยทรัพยากร หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


1 กันยายน 2567

“34ปีล่วงผ่าน-นับแต่ปืนนัดนั้นดังก้องป่า” รำลึกการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร | Remembering Seub Nakhasathien in his 34th year of death.

 

(Please scroll down for the English version.)
นักวิชาการ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ผู้เดิมพันความอยู่รอดของผืนป่าและสัตว์ป่าด้วยชีวิตของตนเอง


 

ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” 

สืบ นาคะเสถียร มักเริ่มต้นพูดกับผู้คนที่มาร่วมฟังเขาอภิปรายเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยประโยคนี้ ใช่ว่าเขาตั้งใจจะเล่นคำหรือสร้างประโยคชวนฉงนเพื่อเรียกให้คนสนใจ แต่เขาหมายความตามอย่างที่พูด

 

 

 

ปี 2529  สืบรับหน้าที่ หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าที่กำลังจะถูกน้ำท่วม อันเป็นผลจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี ภายในระยะเวลาสองปี สืบและทีมงานสามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้พันกว่าตัว นับว่าไม่น้อย หากก็เทียบไม่ได้กับสัตว์อีกนับไม่ถ้วนที่ต้องตายไปอย่างน่าเวทนา สำหรับสืบ ทุกชีวิตมีค่าเสมอกัน แววตาตื่นกลัวของค่างและชะนีที่หนีน้ำไปค้างอยู่สุดยอดไม้เป็นอย่างไร สืบคงไม่เคยลืม แม้กระทั่งจงอางตัวใหญ่ที่กำลังตื่นตระหนกและพร้อมจะฉกกัด สืบก็ไม่หวั่น ทุกชีวิตมีค่าเสมอกันและเขามุ่งมั่นจะรักษาไว้ 

 

จากบทเรียนที่สัตว์จำนวนมากต้องตายอันเป็นผลจากการเปลี่ยนป่าเป็นเขื่อน ทำให้สืบไม่อาจนิ่งเฉยเมื่อรัฐบาลในเวลานั้นมีแนวโน้มจะอนุมัติโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน จ.กาญจนบุรี ซึ่งจะส่งผลให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรประมาณ 140,000 ไร่ กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ 

 

จากบทบาทนักวิชาการศึกษาวิจัยเรื่องสัตว์ป่า สืบเริ่มเคลื่อนไหวในบทบาทนักอนุรักษ์อย่างแข็งขัน เข้าร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน แสดงข้อเท็จจริงและบทเรียนจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานที่ผ่านมา และเพราะสัตว์ไม่สามารถร้องหาความยุติธรรมให้ตัวเองได้ “สืบจึงต้องพูดในนามของสัตว์ป่า” จนกระทั่งรัฐบาลมีมติระงับโครงการนี้ในที่สุด

 

ปลายปี 2532 สืบเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นาทีนี้เขาพร้อมลงชีวิตและหัวใจไว้กับผืนป่าที่เขาผูกพัน

 

ห้วยขาแข้ง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่ของประเทศไทย มีพื้นที่กว่า 1 ล้าน 7 แสนไร่ ตั้งอยู่ใน จ.อุทัยธานี ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของผืนป่าตะวันตกของประเทศ และเป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าที่มีคนเข้าถึงน้อยที่สุดและถูกรบกวนน้อยที่สุด เป็นบ้านที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าทั้งน้อยใหญ่ ในจำนวนนี้เป็นสัตว์ป่าหายากจำนวนมาก เช่น เสือโคร่ง เสือดาว สมเสร็จ กระทิง วัวแดง เป็นต้น ทั้งยังเป็นพื้นที่อันอุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีป่าหลายประเภท และเป็นต้นน้ำของแหล่งน้ำสำคัญของเมืองไทย 
 

 

ทั้งที่ป่า ห้วยขาแข้ง มีความสำคัญประหนึ่ง ลมหายใจ ขนาดนี้
แต่แทบทุกคืน สืบก็ยังคงได้ยินเสียงปืนดังลั่นในราวป่าอย่างน่าเจ็บปวด 
สืบรู้ดี ไม่กลุ่มใดก็กลุ่มหนึ่งระหว่างกลุ่มลักลอบล่าสัตว์และกลุ่มลักลอบตัดไม้
เป็นเจ้าของเสียงปืนเหล่านั้น
และอีกบางครั้ง มันก็เป็นเสียงปืนที่ล่อให้เจ้าหน้าที่ออกติดตามเพื่อไปตาย

 

 

แม้สืบจะตระหนักแน่ชัดแล้วว่าปัญหาของห้วยขาแข้งซับซ้อนและหนักหนาเพียงไหน หากเขายังคงเดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมแทนธรรมชาติ ลำเนาไพร และสัตว์ป่าอย่างไม่ย่อท้อ แต่แม้จะร้องตะโกนกู่ก้องสักเพียงใด ก็ดูเหมือนว่าเสียงนั้นไม่เคยจะดังพอให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหันมาสนใจ หนทางเดียวที่จะช่วยปกป้องผืนป่าแห่งนี้ไว้ได้คือทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้รับการประกาศเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก 

 

 

 

 

สืบมุมานะทำงานศึกษา เก็บข้อมูล เพื่อทำรายงานการเสนอชื่อ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เพื่อเข้าร่วมเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก (Nomination of the Thung Yai – Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary to be a U.N.E.S.C.O. World Heritage Site) ร่วมกับ เบลินดา สจ๊วจ-ค็อกซ์ จนในที่สุด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ก็ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปี 2534 หลังจากสืบจากไปได้ 1 ปี 

 

 

รายงานฉบับดังกล่าวจัดพิมพ์ครั้งแรกในปี 2533 เป็นภาษาอังกฤษ และจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี 2561 โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คลิกดูสถานะหนังสือในชั้นวาง

 

ปืนนัดนั้นเมื่อ 34 ปีก่อน พรากลมหายใจของสืบไป หากขณะเดียวกัน มันก็ช่วยต่อลมหายใจให้ธรรมชาติ ป่าเขา และสัตว์ป่า ที่กำลังรวยรินให้กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง 

 
 
 

 

 

เดือนที่สืบจากไปวนกลับมาบรรจบเป็นปีที่ 34 ในวันที่ 1 กันยายน 2567 ทุกๆ ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะจัดงานรำลึกถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของสืบ สำหรับกิจกรรมในปีนี้มีนิทรรศการ: A Journey through coordinates ที่จะพาผู้ชมร่วมเดินทางไปยังพิกัดต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สรุปภาพรวมสถานการณ์ป่าไม้ไทย เล่าเรื่องงานอนุรักษ์ของมูลนิธิฯ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และลงลึกแต่ละพิกัดของงานเฝ้าระวังสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า 

 

 

นิทรรศการฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 15 กันยายน 2567 ณ บริเวณทางเข้าห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.seub.or.th/

 

 

นิทรรศการ รำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร

 

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับป่าและการอนุรักษ์ธรรมชาติมิติต่างๆ ในอาเซียนได้ที่ TAIC ชั้น 6 หอสมุดกลางจุฬาฯ ตัวอย่างหนังสือ ดังนี้

The lost forest ประวัติศาสตร์(การทำลาย)สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร: https://library.car.chula.ac.th/record=b2343805

An Approach to Forest and Conservation Policy in Southeast Asia:https://library.car.chula.ac.th/record=b2133373

Making Forestry Work for the Poor: Assessment of the Contribution of Forestry to Poverty Alleviation in Asia and the Pacific:https://library.car.chula.ac.th/record=b1926581

Governing Cambodia's Forests: The International Politics of Policy Reform:https://library.car.chula.ac.th/record=b2120765

 

ข้อมูลอ้างอิง: 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (2017, มิถุนายน 17). “สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร.

รำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร: นิทรรศการ A journey through coordinates. (2024, สิงหาคม 5). มูลนิธิสืบนาคะเสถียร. https://www.seub.or.th/bloging/work/2025-255/ สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2024.

สืบ นาคะเสถียร, & สจ๊วต-ค็อกซ์, เบลินดา. (2561). การเสนอชื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเพื่อเข้าร่วมเป็นมรดกโลกกับ U.N.E.S.C.O. (พิมพ์ครั้งแรก). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร.

ขอบคุณภาพประกอบโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

Remembering Seub Nakhasathien in his 34th year of death.

Seub was the head of the Huai Kha Khaeng Sanctuary, a Thai conservationist, environmental activist and scholar who had very strong efforts to protect wildlife and forests, especially the Thungyai Naresuan Wildlife Sanctuary and the Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary. Throughout his career, Seub experienced struggle times to work under complexity issues such as unsupported help from the government, poachers, illegal logging, non-payment of worker’s wages, and even the death of some of his team by forest invaders.

The only best way left to fully conserve the sanctuary was to make it a UNESCO World Heritage Site, Seub devoted himself to writing the nomination report for the Thung Yai – Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary to be a UNESCO World Heritage Site, together with his colleague, Belinda Stewart-Cox.
 
The nomination report was finished just weeks before Seub passed away.
 
UNESCO certified Thung Yai – Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary as a World Heritage in mid-December 1991, approximately a year and a half after Seub’s death.
 
Seub Nakhasathien tragically committed suicide on September 1, 1990. It is believed that this was a powerful statement about the importance of environmental conservation. His legacy lives on through the protected areas he fought so hard to preserve.
See further details of the nomination report of the Thung Yai – Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary to be a UNESCO World Heritage Site and books relating to forest conservation policy in Southeast Asia at the attached links above. 
 
 

views 4200