การบำบัดสารหนูที่ปนเปื้อนในกากโลหกรรมจากการทำเหมืองทองคำด้วยหญ้าเนเปียร์แคระร่วมกับเทคนิคจลนศาสตร์ไฟฟ้า
การบำบัดสารหนูที่ปนเปื้อนในกากโลหกรรมจากการทำเหมืองทองคำด้วยหญ้าเนเปียร์แคระร่วมกับเทคนิคจลนศาสตร์ไฟฟ้า

การบำบัดสารหนูที่ปนเปื้อนในกากโลหกรรมจากการทำเหมืองทองคำด้วยหญ้าเนเปียร์แคระร่วมกับเทคนิคจลนศาสตร์ไฟฟ้า

การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา 1) ผลของปัจจัยทางจลนศาสตร์ไฟฟ้า (ปริมาณสนามไฟฟ้าที่ป้อนและชนิดขั้วอิเล็กโทรด) และลักษณะภาชนะที่ทดลองต่อการเคลื่อนที่ของสารหนูในวุ้น และกากโลหกรรม และ 2) ความสามารถของหญ้าเนเปียร์แคระร่วมกับการใช้จลนศาสตร์ไฟฟ้าในการดูดดึงสารหนูที่ปนเปื้อนในกากโลหกรรม และสะสมไว้ในส่วนเหนือกากโลหกรรม (ลำต้นและใบ) และส่วนใต้กากโลหกรรม (ราก) การศึกษาการเคลื่อนที่ของสารหนูในตัวกลางวุ้นที่มีการเติมสารหนูความเข้มข้น 50 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีการป้อนสนามไฟฟ้าที่ 1 และ 2 โวลต์ต่อเซนติเมตร ที่ระยะเวลา 72 ชั่วโมงต่อเนื่อง พบว่า ในแต่ละชุดการทดลองมีแนวโน้มค่าของการเคลื่อนที่สารหนูที่คล้ายกัน คือ ในบริเวณที่ 1, 2, 3, 4, 6, 7, 8 และ 9 ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการวางขั้วแคโทด มีการสะสมสารหนูในปริมาณที่ต่ำ สำหรับบริเวณที่ 5 ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการวางขั้วแอโนด มีการสะสมสารหนูในปริมาณสูงที่สุด ผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของสารหนูในตัวกลางวุ้น พบว่า รูปแบบภาชนะทรงกลมและขั้วกราไฟท์ที่ป้อนสนามไฟฟ้าที่ 2 โวลต์ต่อเซนติเมตร ให้ประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่ของสารหนูได้ดีที่สุด การเคลื่อนที่ของสารหนูในตัวกลางกากโลหกรรมที่มีความเข้มข้นของสารหนู 60.02 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่ถูกบำบัดด้วยการป้อนสนามไฟฟ้าที่ 1 และ 2 โวลต์ต่อเซนติเมตร ที่ระยะเวลา 3, 5 และ 7 วันต่อเนื่อง พบว่า ระยะเวลาที่ 5 วัน การป้อนสนามไฟฟ้าที่ 2 โวลต์ต่อเซนติเมตร มีผลต่อการเคลื่อนที่ของสารหนูดีที่สุด โดยเคลื่อนที่มาบริเวณระหว่างขั้วแอโนดและแคโทด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 63.07±1.60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในส่วนการบำบัดกากโลหกรรมที่ปนเปื้อนสารหนูด้วยหญ้าเนเปียร์แคระร่วมกับการใช้จลนศาสตร์ไฟฟ้าที่ปริมาณสนามไฟฟ้าแตกต่างกัน (0, 1, 2 และ 4 โวลต์ต่อเซนติเมตร) ที่ระยะเวลา 15, 30, 45, 60, 75, 90, 105 และ 120 วัน พบว่า พืชสามารถดูดดึงและสะสมสารหนูได้สูงที่สุดในส่วนรากของชุดการทดลองที่บำบัดด้วยสนามไฟฟ้า 1 โวลต์ต่อเซนติเมตร เป็นเวลา 90 วัน โดยมีค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของสารหนูเท่ากับ 7.69±0.16 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อพิจารณาปริมาณสารหนูที่สะสมต่อมวลชีวภาพของพืช พบว่า ชุดการทดลองที่บำบัดด้วยสนามไฟฟ้าที่ 1 และ 2 โวลต์ต่อเซนติเมตร ที่ระยะเวลา 120 วันนั้น แสดงค่าดังกล่าวสูงสุด (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/70096

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2564

updated by Sumal Chausaraku

views 248