การวิเคราะห์สร้างการเจริญเติบโตของการค้าในภูมิภาคเอเซียแฟซิฟิก

การวิเคราะห์สร้างการเจริญเติบโตของการค้าในภูมิภาคเอเซียแฟซิฟิก

เพื่อศึกษาโครงสร้างการค้าภายในภูมิภาคของกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งพิจารณาบทบาทของอัตราการเติบโตในการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน (Intra-Industy Trade) และการค้าระหว่างอุตสาหกรรม (Inter-Industry Trade) ที่มีผลต่อการเติบโตในมูลค่าการค้ารวม โดยวิเคราะห์ที่มาของการเติบโตในมูลค่าการค้ารวมเปรียบเทียบในช่วงปี 1985-1989 และ 1989-1993 ตลอดจนศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับการค้าภายในอุตสาหกรรมของประเทศไทยกับประเทศ ASEAN โดยการศึกษาในครั้งนี้พิจารณาสินค้าอุตสาหกรรมจำแนกตามระบบ SITC 2 หลัก ของ United Nations ผลการศึกษาพบว่า ทุกกลุ่มประเทศภายในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกมีการค้าภายในภูมิภาคเป็นส่วนสำคัญในการค้าระหว่างประเทศและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปี 1985-1993 การค้าส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นการค้าในสินค้าอุตสาหกรรม และการเติบโตของการค้าจากทุกกลุ่มประเทศในภูมิภาคมาจากบทบาทของการเติบโตการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงปี 1989-1993 การค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันเพิ่มความสำคัญขึ้นจากช่วงปี 1985-1989 มาก กล่าวคือมีบทบาทต่อการค้ารวมมากกว่าการค้าระหว่างอุตสาหกรรมในทุกกลุ่มประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม East Asia และ ANZCERTA มีการเติบโตของการค้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นผลมาจากการเติบโตของการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้งสิ้น ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อระดับการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันในกรณีของประเทศไทยกับประเทศคู่ค้าในกลุ่ม ASEAN ได้แก่ความคล้ายกันในด้านปัจจัยการผลิต ความซับซ้อนและการใช้เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งทำให้เกิดความหลากหลายในสินค้า และระดับการลงทุนจากต่างประเทศได้สร้างเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศภายในกลุ่ม ASEAN โดยญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการสร้างเครือข่ายการลงทุนดังกล่าว ปัจจัยทั้งสามนี้มีผลให้สัดส่วนการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันสูงขึ้น ส่วนอุปสรรคทางการค้าประกอบด้วยอุปสรรคทางธรรมชาติและเชิงนโยบาย โดยสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติคือ ระยะทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้สัดส่วนการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันต่ำลง ส่วนสิ่งกีดขวางเชิงนโยบายที่สำคัญได้แก่ อัตราภาษีศุลกากรซึ่งในการศึกษานี้พบว่าไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสัดส่วนการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน ส่วนปัจจัยทางด้านความคล้ายกันของรายได้ต่อหัวก็พบว่าไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสัดส่วนการค้าภายในอุตสาหกรรมเช่นกัน เนื่องจากการขยายตัวทางการค้าผ่านการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันมีบทบาททวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ดังนั้นนโยบายการลดอุปสรรคทางการค้าในภูมิภาคนี้ ไม่น่าที่จะก่อให้เกิดต้นทุนการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเท่ากับกรณีที่ประเทศมีโครงสร้างทางการค้าพึ่งพิงการค้าระหว่างอุตสาหกรรมเป็นหลัก ดังนั้น กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ควรดำเนินการร่วมกันในการประสานแผนการลดข้อกีดกันทางการค้าลง เพื่อขยายปริมาณการค้าในภูมิภาคนี้ต่อไป

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/22928

หนังสือแนะนำชุด “วิทยานิพนธ์จุฬาฯ เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” เดือนพฤศจิกายน 2565


โอกาสและศักยภาพในการค้าภาคอุตสาหกรรมของไทยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

โอกาสและศักยภาพในการค้าภาคอุตสาหกรรมของไทยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

การศึกษาวิจัยในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงรูปแบบการค้าของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมไปถึงประโยชน์เนื่องจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้ โดยมีรายละเอียดการศึกษาเป็นข้อ ดังนี้ 1. โครงสร้างการค้าระหว่างไทยกับเอเปก 2. ปัจจัยกำหนดการค้าระหว่างไทยกับเอเปก และ อธิบายโครงสร้างการค้าของไทยกับประเทศในเอเปก และ 3. โอกาสและแนวโน้มการค้าของไทยกับเอเปก ข้อมูลที่ใช้ในด้านการค้าระหว่างประเทศมีแหล่งที่มาจาก United Nations Statistic Office, “Commodity Trade Statistic” UN, และ “Foreign Trade Statistics of Asia and the Pacific” ESCAP ส่วนข้อมูลด้านแรงงานและทุน ได้มาจาก Balassa’s Factor Proportion Data โดยข้อมูลเหล่านี้จะใช้ในการวิเคราะห์ดัชนีการค้าต่าง ๆ และ model ค่าดัชนีการค้าที่ใช้ในการวิเคราะห์ในครั้งนี้ได้แก่ Intra-Industry Trade (IIT), Revealed Comparative Advantage (RCA), Trade Intensity Index (TII), Trade Complemetary Index (TCI), และ Trade Bias Index (TBI) ซึ่งเป็นดัชนีใช้ในการวัดการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ และใช้ 3 model ในการวิเคราะห์คือ 1. การวัดสัดส่วนของการใช้ปัจจัยการผลิต 2. ปัจจัยที่มีผลต่อ Intra-Industry Trade และ 3. ปัจจัยที่มีผลต่อความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (RCA) รูปแบบการค้าของประเทศไทย กับประเทศพัฒนาแล้วในภูมภาคเอเชียแปซิฟิก จะเป็นไปในลักษณะที่สอดคล้องกับ Factor Proportion Model สำหรับการค้าระหว่างไทยกับ ASEAN หรือ NICs จะเป็นในลักษณะ Intra-Industry Trade โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน นอกจากนั้นการศึกษาพบว่าประเทศไทยมี trade intensity กับกลุ่มประเทศอาเซียนมากที่สุด เนื่องจากตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกันและมีสถานะหลาย ๆ อย่างคล้าย ๆ กัน เช่น วัฒนธรรม ศาสนา และ ภาษาเป็นต้น การเพิ่มขึ้นของการค้าระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นถ้าประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคมารวมกลุ่มกันโดยมีการกำหนดให้เกิดการค้าและการลงทุนอย่างเสรี หากประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจ จะทำให้ประเทศสมาชิกได้รับประโยชน์จากการค้าเสรีมากขึ้น

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/35579

หนังสือแนะนำชุด “วิทยานิพนธ์จุฬาฯ เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” เดือนพฤศจิกายน 2565


การวิเคราะห์ผลกระทบการเปิดเสรีการค้าในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก ของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โดยใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป

การวิเคราะห์ผลกระทบการเปิดเสรีการค้าในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก ของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โดยใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยว่าด้วยการลดภาษีศุลกากร โดยพิจารณาภายใต้อัตราการแลกเปลี่ยนลอยตัว ในการศึกษานี้ได้ใช้วิธีการคำนวณดุลยภาพทั่วไปในการคำนวณหาผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากเป็นวิธีการที่มีการมองถึงภาพพจน์ของระบบเศรษฐกิจอย่างเจาะลึกลงไปในระดับอุตสาหกรรมทุกส่วน และมีการจัดเครือข่ายของความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ให้มีความเชื่อโยงอย่างเป็นระบบแบบแผน ส่งผลให้การติดตามผลต่อเนื่องอย่างเป็นลูกโซ่ และแบบจำลองที่ใช้ คือ แบบจำลองแคมเจม ซึ่งเป็นแบบจำลองเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมอแนช ออสเตรเลีย ผลการศึกษาพบว่า การเปิดเสรีการค้าเอเปคของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปทำให้อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยได้รับประโยชน์มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม และนำไปสู่การขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปสูง ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และเมื่อพิจารณาการลดค่าเงินบาทร่วมด้วย การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนทางด้านการผลิตยังคงมีการขยายตัวในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่จะทำให้เกิดการหดตัวลงทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตามการเปิดเสรีการค้าเอเปคของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปก็มีแนวโน้มที่จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/67883

หนังสือแนะนำชุด “วิทยานิพนธ์จุฬาฯ เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” เดือนพฤศจิกายน 2565


ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนทางด้านความมั่นคง: ศึกษากรณีจีนเข้าร่วมการประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนทางด้านความมั่นคง: ศึกษากรณีจีนเข้าร่วมการประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนทางด้านความมั่นคงในยุคหลังสงครามเย็น โดยศึกษากรณีที่จีนเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum-ARF) ซึ่งเป็นเวทีการประชุมแบบพหุภาคี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ จีนยืนกรานที่จะใช้เวทีการเจรจาแบบทวิภาคีในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เนื่องจากจีนเชื่อว่า ตนจะได้เปรียบในการเจรจาต่อรองเหนือคู่เจรจาซึ่งเป็นประเทศที่เล็กกว่าในเวทีดังกล่าว ในขณะที่การเจรจาในกรอบของพหุภาคีนั้น จีนเป็นกังวลกับการต่อรองกับหลายประเทศในเวลาเดียวกัน ในการศึกษาเรื่องนี้ ได้อาศัยแนวคิดเรื่องวิถีปฏิบัติระหว่างประเทศมาอธิบายถึงสาเหตุที่จีนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว จากการศึกษาพบว่า จีนมีความจำเป็นต้องเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากต้องการลดความหวาดระแวงของอาเซียนต่อจีน ซึ่งเป็นผลมาจากท่าทีที่แข็งกร้าวในกรณีปัญหาการแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์และการพัฒนาศักยภาพทางทหารของจีน อันเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การจัดตั้งการประชุมดังกล่าว นอกจากนั้น จีนยังต้องการที่จะป้องกันการรวมกลุ่มระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (ในขณะนั้น) เวียดนามเพื่อต่อรองกับจีนเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์ และจีนยังต้องการที่จะลดอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ในเวทีการเจรจาปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคอีกด้วย หลังจากการเข้าร่วม ARF จีนได้รับประโยชน์หลายประการ เช่น ได้รับทราบข้อมูลทางด้าน ความมั่นคง และสามารถผลักดันให้การประชุมดังกล่าวเป็นเพียงเวทีการเจรจามากกว่าจะเป็นกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงอย่างถาวร แต่อย่างไรก็ตาม การที่จีนเข้าร่วม ARF ทำให้การประชุม ARF มีความสำคัญต่อการเจรจาปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้อาเซียนมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศมหาอำนาจ

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/4449

หนังสือแนะนำชุด “วิทยานิพนธ์จุฬาฯ เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” เดือนพฤศจิกายน 2565


บทบาทของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกาในการประชุมอาเซียน  ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก  ระหว่างปี ค.ศ. 1994-2004

บทบาทของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกาในการประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระหว่างปี ค.ศ. 1994-2004

การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ARF) เป็นเวทีปรึกษาหารือด้านความมั่นคงแห่งแรกในภูมิภาคภายหลังสงครามเย็น นับแต่ปีก่อตั้งใน ค.ศ. 1994 เออาร์เอฟได้พัฒนาเป็นการประชุมเพื่อการปรึกษาหารือโดยมีจุดมุ่งหมายในการป้องกันความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เออาร์เอฟมุ่งที่จะส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ ความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศผู้เข้าร่วม และพัฒนาแนวทางการดำเนินการทูตเชิงป้องกัน วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้เน้นการอธิบายบทบาทของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกาในเออาร์เอฟ การประชุมนี้ดูเหมือนเป็นเวทีการแข่งขันทางอำนาจการเมืองระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกา ทั้งสองประเทศพยายามที่จะสร้างความชอบธรรม และแผ่ขยายผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของแต่ละฝ่ายในภูมิภาค ผลลัพธ์ของการต่อสู้แข่งขันนี้จะส่งผลต่อความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค และอาจส่งผลต่อการพัฒนาการประชุมในอนาคต เออาร์เอฟยังคงมีบทบาทที่สำคัญตราบที่ยังเป็นประโยชน์ต่อเหล่าประเทศสมาชิก โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกา ในประเด็นความมั่นคงต่างๆ ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้จะยังคงเป็นผู้เล่นสำคัญในการสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกาเป็นความท้าทายที่ทั้งภูมิภาคจำเป็นต้องจับตามองต่อไป

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/13960

หนังสือแนะนำชุด “วิทยานิพนธ์จุฬาฯ เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” เดือนพฤศจิกายน 2565


นโยบายของญี่ปุ่นต่อโครงสร้างอำนาจใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก:  ศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกของญี่ปุ่น

นโยบายของญี่ปุ่นต่อโครงสร้างอำนาจใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก: ศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกของญี่ปุ่น

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ของญี่ปุ่น ค.ศ. 2013 โดยใช้แนวคิดการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร (Alliance) และแนวคิดการคานอำนาจ (Balance of Power) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่สำคัญของการศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีสมมติฐานว่า ญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะใช้ข้อตกลง TPP เป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคง เพราะการที่สหรัฐฯ สามารถคงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกผ่านนโยบายการหันความสนใจมาสู่เอเชีย (Pivot to Asia) เป็นการคานบทบาทและอิทธิพลของจีนและกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีจีนเป็นผู้ขับเคลื่อนไม่ให้มีบทบาทครอบงำในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก จากการศึกษาพบว่า ญี่ปุ่นประกาศความสนใจที่จะเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง TPP ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2010 ซึ่งรัฐบาลพรรค DPJ ต้องเผชิญกับการคัดค้านภายในประเทศและปัญหาภัยพิบัติแผ่นดินไหว ค.ศ. 2011 ทำให้ต้องเลื่อนการเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง TPP ออกไป แต่ในสมัยรัฐบาลพรรค LDP สามารถผลักดันข้อตกลง TPP และโน้มน้าวประชาชนให้เห็นด้วยกับข้อตกลง TPP จนสามารถประกาศให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมข้อตกลง TPP อย่างเป็นทางการได้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทั้งนี้พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องการเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลง TPP เนื่องด้วยญี่ปุ่นต้องการใช้ข้อตกลง TPP เป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ โดยแสดงให้เห็นว่าระบบพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ยังคงมีความเข้มแข็งอยู่ โดยข้อตกลง TPP ช่วยสนับสนุนนโยบายการหันความสนใจมาสู่เอเชีย (Pivot to Asia) เพื่อให้สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทในภูมิภาคต่อไป เพื่อสกัดกั้นการขยายบทบาทและอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลง TPP แต่ญี่ปุ่นยังคงผลักดันข้อตกลง TPP ในฐานะเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของตนต่อไป

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/60012

หนังสือแนะนำชุด “วิทยานิพนธ์จุฬาฯ เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” เดือนพฤศจิกายน 2565


Collection