แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล : กรณีศึกษาการทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย

แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล : กรณีศึกษาการทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาแนวคิดเบื้องต้นในการจัดเก็บภาษีเงินได้ในเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ปริมาณธุรกิจดิจิทัลและการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลของผู้ใช้งานหรือลูกค้ามีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก ทว่าประเทศไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้กับธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการปรากฏตัวทางกายภาพของนิติบุคคลในประมวลรัษฎากร จึงทำให้ประเทศไทยขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนดังกล่าว ดังนั้น การพิจารณาแนวคิดในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นยิ่ง การแก้ไขปัญหานี้สำหรับธุรกิจดิจิทัลนั้น ประเทศไทยต้องมีการปรับปรุงจุดเกี่ยวโยงและหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้ โดยใช้วิธีการตามข้อเสนอล่าสุดคือ ข้อเสนอแนวทางร่วมกันซึ่งเกิดจากการบูรณาการข้อเสนอขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา แนวทางร่วมกันซึ่งกำหนดจุดเกี่ยวโยงตามข้อเสนอนี้จะทำให้ประเทศไทยมีเขตอำนาจในการจัดเก็บภาษีจากรายได้ส่วนที่เคยจัดเก็บไม่ได้ซึ่งมีจุดเกี่ยวโยงกับประเทศไทย การกำหนดมาตรการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยจำต้องพิจารณาทั้งการใช้มาตรการระยะสั้นและระยะยาว โดยจากการศึกษาแนวคิดของต่างประเทศและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกำหนดมาตรการดังกล่าวนั้น มาตรการเพื่อจัดเก็บภาษีระยะสั้นไม่เหมาะสมกับประเทศไทยเพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบโดยเฉพาะประเด็นการถูกตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศจากประเทศคู่ค้า ดังนั้นประเทศไทยควรรอใช้มาตรการตามข้อเสนอแนวทางร่วมกันซึ่งเป็นมาตรการระยะยาว โดยอาศัยความร่วมมือที่ทำให้เกิดเป็นข้อตกลงระดับพหุภาคีหรือเรียกกันว่าเครื่องมือระดับพหุภาคี(บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/73078

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์” เดือน กันยายน 2564


ปัญหาทางกฎหมายของระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

ปัญหาทางกฎหมายของระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่มักเรียกว่า e-Payment เช่น บัตรเครดิต การโอนเงิน การชำระด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) การให้หักเงินจากบัญชี การชำระเงินผ่านระบบของโทรศัพท์มือถือหรือระบบอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันเป็นที่นิยมและมีแนวโน้มการใช้งานเพิ่มขึ้นทุกปีตามสถิติที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความสะดวกสบายและปลอดภัย ไม่ต้องพกเงินสดในปริมาณมาก เมื่อมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ย่อมเกิดปัญหามากขึ้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงนิติสัมพันธ์ของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ สิทธิหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร จึงเกิดประเด็นปัญหาทางกฎหมาย ดังนี้ (1) ปัญหาด้านข้อสัญญาสำเร็จรูป ที่ผู้ให้บริการกำหนดข้อสัญญาแต่ฝ่ายเดียว และข้อสัญญามักสร้างภาระหน้าที่ให้แก่ผู้ใช้บริการเกินสมควร (2) ในทางปฏิบัติผู้ใช้บริการต้องรับภาระความเสียหายจากการถูกทุจริต แม้ว่าผู้ใช้บริการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต และผู้ใช้บริการไม่อาจเข้าแก้ไขหรือระมัดระวังต่อปัญหาดังกล่าวได้ (3) การเรียกร้องดอกเบี้ยหรือค่าเสียหาย ต้องใช้กำลังทรัพย์และระยะเวลาในการฟ้องร้องต่อสู้คดีเพื่อให้ได้มาซึ่งดอกเบี้ยและค่าเสียหายที่อาจไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดี (4) หน่วยงานที่รับข้อร้องเรียนกลับทำหน้าที่เพียงส่งต่อเรื่องให้กับผู้ให้บริการแก้ไข ทั้งที่ปัญหามีความซับซ้อนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ปัญหาและนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และ (5) ผู้ใช้บริการไม่สามารถเข้าถึง และอาจไม่มีความรู้ความเข้าใจที่จะสามารถตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำและน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงจะศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดขึ้น เพื่อทำความเข้าใจและเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเหล่านั้นให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยศึกษาเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล และกฎหมายของต่างประเทศ ผู้วิจัยจึงได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโดย (1) เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อระบุสิทธิหน้าที่ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ (2) ออกมาตรการเกี่ยวข้อกำหนดในสัญญาบริการเพื่อป้องกันปัญหาการเกิดข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค (3) จัดทำประมวลแบบแผนการปฏิบัติ (Code of Practice) ว่าด้วยวิธีการขั้นตอน มาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบที่ผู้ให้บริการพึงมีต่อผู้ใช้บริการ (4) ผลักภาระความเสียหายจากผู้ใช้บริการไปยังผู้ให้บริการแทน และจำกัดวงเงินการรับผิดของผู้ใช้บริการ (5) ตั้งผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคผู้เป็นกลางมาช่วยตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน และ (6) ให้หน่วยรับข้อร้องเรียนตรวจสอบและแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผู้ใช้บริการควรได้รับ (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69595

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์” เดือน กันยายน 2564


แนวทางในการจำแนกประเภทและระวางโทษผู้กระทำความผิดหลายคน

แนวทางในการจำแนกประเภทและระวางโทษผู้กระทำความผิดหลายคน

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความเหมาะสมของการจำแนกประเภทและระวางโทษผู้กระทำความผิดหลายคนในประเทศไทย รวมถึงการจำแนกประเภทและระวางโทษในระบบผู้ร่วมกระทำความผิดและระบบผู้กระทำความผิดหนึ่งเดียว เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบและเสนอแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้เหมาะสมกับกฎหมายอาญาไทยต่อไป จากการศึกษาพบว่า ระบบผู้ร่วมกระทำความผิดมีการจำแนกประเภทและมีระวางโทษแตกต่างกันตามกฎหมายบัญญัติ โดยประมวลกฎหมายอาญาไทยมีการใช้ระบบดังกล่าวนี้ แต่พบประเด็นปัญหาการกล่าวถึงผู้ลงมือกระทำความผิดและผู้กระทำความผิดผ่านผู้อื่น ทำให้การปรับใช้ทฤษฎีนายเหนือการกระทำความผิดไม่สมบูรณ์ รวมถึงขาดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาถึงการร่วมกระทำความผิดของตัวการ ส่วนระวางโทษผู้ใช้และผู้สนับสนุนค่อนข้างจำกัดซึ่งแตกต่างจากระวางโทษของกฎหมายอาญาเยอรมันและญี่ปุ่น ระบบผู้กระทำความผิดหนึ่งเดียวนั้น มีการจำแนกประเภทผู้กระทำความผิดหลายคนโดยปริยาย โดยให้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาถึงรูปแบบลักษณะของการกระทำความผิดและกำหนดโทษได้ตามความร้ายแรงของการกระทำ แม้ว่าระบบนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่อาจไม่เหมาะสมกับบริบทกฎหมายอาญาไทย ดังนั้น เห็นควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและเพิ่มนิยามการร่วมกระทำความผิดของตัวการ ในมาตรา 83 ให้สอดคล้องทฤษฎีนายเหนือการกระทำความผิด ส่วนมาตรา 84 วรรคสาม ให้ยกเลิกการเพิ่มโทษกรณีผู้ถูกใช้มีสถานะพิเศษและแก้ไขระวางลงโทษของผู้ใช้ และมาตรา 86 ให้ระวางโทษของผู้สนับสนุนลดลงจากผู้กระทำความผิด เพื่อทำให้การกำหนดโทษได้สัดส่วนและสอดคล้องกับหลักการลงโทษให้เหมาะสมกับผู้กระทำความผิด (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/64680

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์” เดือน กันยายน 2564


LOCATIONCALL#STATUS
Law Library : Thesis (4th Floor)K/TH 800 ป554น 2562CHECK SHELVES

การนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่ามาใช้ในคดีฟอกเงิน

การนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่ามาใช้ในคดีฟอกเงิน

มาตรการดำเนินการกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ใช้หลักการริบทรัพย์สินแบบเจาะจงทรัพย์สิน คือ ทรัพย์ที่ถูกริบต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในทางใดทางหนึ่ง และในขณะที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ จะต้องมีตัวทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งคำสั่งริบนั้นอยู่ ทำให้เกิดปัญหาในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซุกซ่อนทรัพย์สินอย่างแนบเนียน หรือใช้วิธีการนำทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดรวมเข้ากับทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการใช้ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดให้หมดไปอย่างสิ้นเปลือง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถติดตามริบทรัพย์สินเหล่านั้นได้ ผู้กระทำความผิดยังคงได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิดอยู่ การนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่ามาใช้ในกฎหมายฟอกเงิน จะทำให้ศาลมีอำนาจในการกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากการกระทำความผิด และสั่งริบชำระเป็นเงินแทนหรือสั่งให้ริบทรัพย์สินอื่นของผู้กระทำความผิดเทียบเท่ากับมูลค่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำความผิด และเพื่อเป็นการลงโทษให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ทรัพย์สินคืนให้แก่รัฐจากการที่ตนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเหล่านั้น ทำให้การริบทรัพย์สินตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของประเทศไทยมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับนานาประเทศและมีความสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศและมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/64679

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์” เดือน กันยายน 2564


LOCATIONCALL#STATUS
Law Library : Thesis (4th Floor)K/TH 825 ห153ก 2562DUE 05-03-24

การกำหนดความรับผิดทางอาญาจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ

การกำหนดความรับผิดทางอาญาจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ

อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle หรือ “UAV”) เป็นเครื่องมือสิ่งประดิษฐ์ชนิดใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในงานกิจการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานของรัฐบาล การใช้งานเชิงพาณิชย์ รวมถึงการใช้งานส่วนบุคคล ซึ่งอากาศยานไร้คนขับโดยส่วนใหญ่จะมีการติดตั้งกล้องที่มีความคมชัดสูง หรืออุปกรณ์รวบรวมข้อมูลอื่นๆ ไว้ ทำให้ลักษณะของการใช้งานอากาศยานไร้คนขับซึ่งบินในมุมสูงในแต่ละครั้ง อาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการละเมิดความเป็นส่วนตัว และก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้อากาศยานไร้คนขับส่วนบุคคลนั้น ได้แก่ การใช้อากาศยานไร้คนขับรุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคล และการใช้อากาศยานไร้คนขับเป็นเครื่องมือในการถ้ำมอง รวมถึงการแอบถ่าย สอดแนม และการละเมิดความเป็นส่วนตัวอื่นๆ โดยอากาศยานไร้คนขับนั้นอาจถูกนำมาใช้โดยผิดวัตถุประสงค์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องพิจารณาถึงปัญหาจากการใช้อากาศยานไร้คนขับในการละเมิดความเป็นส่วนตัว เช่น การบุกรุกโดยอากาศยานไร้คนขับ (Trespass by UAV) การใช้อากาศยานไร้คนขับในการถ้ำมอง (Voyeurism) การใช้อากาศยานไร้คนขับในการสอดแนม (Spying) หรือติดตามบุคคลอื่น (Stalking) เป็นต้น วิทยานิพนธ์เล่มนี้จะศึกษาถึงแนวทางการกำหนดความรับผิดทางอาญาจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งแบ่งการพิจารณาออกเป็นสามประเด็น ได้แก่ การบุกรุกโดยอากาศยานไร้คนขับ การถ้ำมองโดยอากาศยานไร้คนขับ และการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยอากาศยานไร้คนขับ โดยวิเคราะห์ถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายไทยกับการใช้อากาศยานไร้คนขับในการละเมิดความเป็นส่วนตัว และศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการใช้อากาศยานไร้คนขับในการละเมิดความเป็นส่วนตัวในต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 5 มลรัฐ ได้แก่ มลรัฐเทนเนสซี มลรัฐมิสซิสซิปปี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย มลรัฐหลุยเซียนา และมลรัฐโรดไอแลนด์ เพื่อหาแนวทางคุ้มครองความเป็นส่วนตัวที่เหมาะสมจากการใช้อากาศยานไร้คนขับ (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69598

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์” เดือน กันยายน 2564


LOCATIONCALL#STATUS
Law Library : Thesis (4th Floor)K/TH 804 อ491ก 2562CHECK SHELVES

สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์

สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์

สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งมักที่มีก่อให้เกิดประเด็นปัญหาจากการที่ไม่มีกฎหมายกำหนดสิทธิหน้าที่ตามสัญญาไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์มักมีลักษณะเป็นสัญญาแบบมาตราฐานที่คู่สัญญาฝ่ายผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิสามารถกำหนดเนื้อหาของสัญญาได้โดยฝ่ายผู้รับอนุญาตไม่มีอำนาจต่อรอง การกำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาโดยอาศัยเพียงข้อสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรจึงอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และนอกจากนี้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นธุรกรรมที่มีการคาบเกี่ยวกันระหว่างสัญญาหลายประเภทในสัญญาฉบับเดียวกัน จึงมีปัญหาว่าสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาควรเป็นไปในแนวทางเดียวกับสัญญาประเภทใด จึงทำให้สิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาไม่มีความชัดเจนแน่นอน รวมถึงคู่สัญญาจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาที่มีกฎหมายกำหนดสิทธิหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาเปรียบเทียบถึงเนื้อหาของสิทธิหน้าที่ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่คู่สัญญา รวมถึงศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษเพื่อนำมาปรับใช้ในการกำหนดสิทธิหน้าที่ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ มีการนำสิทธิหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายและสัญญาให้บริการมาปรับใช้กับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย เนื่องจากเป็นสัญญาที่มีลักษณะใกล้เคียงกันพอที่จะปรับใช้หลักเกณฑ์อย่างเดียวกันได้อย่างสมเหตุสมผล โดยมีการปรับใช้ในสองลักษณะคือ การปรับใช้โดยอนุโลมโดยอาศัยการตีความเจตนาของคู่สัญญาว่ามีความประสงค์จะให้สิทธิหน้าที่ตามสัญญาเป็นไปในแนวทางเดียวกับสัญญาซื้อขายหรือสัญญาให้บริการ แล้วแต่กรณี และกำหนดให้คู่สัญญามีสิทธิหน้าที่อย่างเช่นเดียวกันกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายของสัญญาที่มีความใกล้เคียงมากกว่า และต่อมาในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ ได้มีการตรากฎหมายฉบับใหม่เพื่อกำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาไว้เป็นการเฉพาะเพื่อขจัดปัญหาความไม่ชัดเจนแน่นอนจากการตีความสัญญาโดยศาลเป็นรายคดี ในประเทศไทย การปรับใช้สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะซื้อขายหรือเอกเทศสัญญาอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยตรงนั้น ไม่สามารถทำได้เนื่องจากสาระสำคัญของสัญญาแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ดีศาลไทยอาจกำหนดสิทธิหน้าที่ตามสัญญาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันได้โดยอาศัยการตีความสัญญาว่าตามเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญา และโดยการใช้หลักสุจริต คู่สัญญาต้องการให้สิทธิหน้าที่ระหว่างกันเป็นไปในแนวทางเดียวกับสิทธิหน้าที่ตามเอกเทศสัญญานั้น ศาลจึงบังคับสิทธิหน้าที่ระหว่างกันให้เป็นไปตามเจตนาอันแท้จริง (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/64677

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์” เดือน กันยายน 2564


LOCATIONCALL#STATUS
Law Library : Thesis (4th Floor)K/TH 684 ช152ส 2562CHECK SHELVES

Collection