การวิเคราะห์เชิงปริภูมิ-กาลและแบบจำลองเพื่อความยั่งยืนของพื้นที่ป่าและเมืองชายฝั่งอันดามัน: กรณีศึกษาจังหวัดกระบี่

การวิเคราะห์เชิงปริภูมิ-กาลและแบบจำลองเพื่อความยั่งยืนของพื้นที่ป่าและเมืองชายฝั่งอันดามัน: กรณีศึกษาจังหวัดกระบี่

งานวิจัยสหสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยาภูมิทัศน์ ผังเมือง และการจัดการชายฝั่ง เพื่อนำเสนอแนวทางการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้มุมมองทางภูมิสถาปัตยกรรม เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่ง วิเคราะห์โครงสร้างและรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างแบบแผนปริภูมิกับกระบวนการทำงานของระบบนิเวศป่าชายเลนและเมืองชายฝั่ง และเสนอแบบจำลองทางเลือกในการวางแผนภูมิทัศน์เมืองชายฝั่ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยใช้ข้อมูลการสำรวจระยะไกลมาแปลความลักษณะของสิ่งปกคลุมดินด้วยโปรแกรม ArcGIS และวิเคราะห์ด้วยดัชนีชี้วัดภูมิทัศน์ เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของแบบแผนปริภูมิในระดับภูมิภาคชายฝั่งอันดามันทั้ง 6 จังหวัดและระดับภูมิภาคเมืองกระบี่ แล้วนำเสนอกระบวนการวางผังภูมินิเวศ ที่ช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่จากการขยายเมือง บรรเทาความรุนแรงของภัยธรรมชาติ ลดความขัดแย้งจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน และสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์การวางผัง ร่วมกับการวิเคราะห์ศักยภาพและข้อจำกัดของระบบนิเวศเมืองในการบริการระบบนิเวศ รวบรวมผลการวิเคราะห์ออกมาเป็นแบบจำลองทางเลือกในการพัฒนาภูมิภาคเมืองชายฝั่งที่จะเป็นแนวทางพื้นฐานของการวางผังภูมิภาคเมืองชายฝั่ง โดยยุทธศาสตร์ “โครงข่ายแห่งโอกาส” สร้างโครงข่ายภูมิทัศน์หลากประโยชน์ เป็นแบบจำลองการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพในการทำงานของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศสูงสุด และสามารถนำไปพัฒนาพื้นที่ภูมิภาคเมืองกระบี่ ในรูปแบบผังภูมิทัศน์ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบน้ำ ระบบพื้นที่สีเขียว และระบบเมือง แต่ละระบบมีกลยุทธ์ทางเลือกในการพัฒนา 4 รูปแบบ เป็นลำดับขั้นได้แก่ พัฒนาผืนระบบนิเวศ พัฒนาทางเชื่อมนิเวศ พัฒนาเป็นโครงข่าย และพัฒนาแบบองค์รวม แต่ละรูปแบบมีบทบาทหน้าที่ คุณลักษณะทางกายภาพแตกต่างกัน ที่สามารถนำไปกำหนดทิศทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้กับเมืองชายฝั่งอื่นๆ เพื่อความยั่งยืนของทั้งเมืองและสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/64869

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2564


สถานการณ์และข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว กรณีศึกษาอุตสาหกรรมสาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

สถานการณ์และข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว กรณีศึกษาอุตสาหกรรมสาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

วิทยานิพนธ์มีเป้าหมายในการศึกษาสถานการณ์และแนวทางการส่งเสริมนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวของประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) งานวิจัยได้ประยุกต์ใช้การวิเคราะห์สมการโครงสร้าง (SEM) และ SWOT เพื่อการวิเคราะห์ปัจจัย โอกาส และอุปสรรค ที่มีต่อการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวของ SMEs ในสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้วิเคราะห์และพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริม SMEs ให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในประเทศไทยให้มีเพิ่มมากขึ้น ผลการศึกษาจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง SMEs พบว่า กลุ่มปัจจัยด้านเศรษฐกิจ กลุ่มปัจจัยด้านสังคม กลุ่มปัจจัยด้านทรัพยากรภายในองค์กร มีผลต่อการตัดสินใจพัฒนาองค์กรเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวของกลุ่ม SMEs ที่ศึกษา โดยมีปัจจัยด้านการเงินเป็นอุปสรรคที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่ 1 รองลงมาเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจและปัจจัยด้านบุคลากร เป็นอุปสรรคที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง พบว่า ปัจจัยย่อยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจของ SMEs ในการพัฒนาองค์กรตามหลักการอุตสาหกรรมสีเขียวมากที่สุด ได้แก่ การที่อุตสาหกรรมสีเขียวถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขทางการค้า ความเข้มงวดของกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และ ผู้บริโภคมีความต้องการอุตสาหกรรมสีเขียว แนวทางการส่งเสริม SMEs ให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ควรใช้กลไกทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจให้ SMEs ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดกฎระเบียบบังคับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว และการกำหนดภาษีสินค้าในอัตราที่แตกต่างกันกับสินค้าผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อยกระดับความตระหนักและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/64881

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2564


การผลิตก๊าซชีวภาพจากการหมักร่วมกากของเสียจากโรงงานแป้งมันสำปะหลังดัดแปรร่วมกับตะกอนเลนจากบ่อเลี้ยงกุ้ง

การผลิตก๊าซชีวภาพจากการหมักร่วมกากของเสียจากโรงงานแป้งมันสำปะหลังดัดแปรร่วมกับตะกอนเลนจากบ่อเลี้ยงกุ้ง

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการหมักร่วมระหว่างกากตะกอนแป้ง (Starch sludge, SS) กับตะกอนสลัดจ์ (Activated biosludge, ABS) จากระบบบำบัดน้ำเสียแอกติเวเต็ดสลัดจ์ของโรงงานแป้งมันสำปะหลังดัดแปร และตะกอนเลน (Shrimp pond sediment, SPS) จากบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล ด้วยระบบถังหมักไร้ออกซิเจนแบบสองขั้นตอน ซึ่งได้ทำการทดลองเบื้องต้นด้วยวิธีบีเอ็มพีโดยออกแบบการทดลองแบบประสมส่วนกลาง และมีการใช้หลักการพื้นผิวตอบสนองของโปรแกรม Design Expert (Trial version 10) เพื่อเลือกอัตราส่วนการหมักร่วมที่เหมาะสม พบว่าที่อัตราส่วน (SS:SPS และ SS:ABS) เท่ากับ 1:0 และ 1:1 มีความเหมาะสม เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพสูง และระบบมีความเสถียรภาพ โดยอัตราส่วนดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการเดินระบบหมักกรดด้วยถังปฎิกรณ์กวนสมบรูณ์แบบแบทซ์ โดยศึกษาผลของของแข็งระเหยเริ่มต้น (TVS) ซึ่งพบว่า TVS เริ่มต้นร้อยละ 2 อัตราส่วนการหมักร่วม 1:1 ของ SS:SPS และ SS:ABS มีความเหมาะสม เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการผลิตกรดไขมันระเหยสูง เท่ากับ 319 และ 353 กรัมอะซิติก/กิโลกรัมของของแข็งระเหยเริ่มต้น ตามลำดับ อีกทั้งยังพบว่าถังหมักกรดมีเสถียรภาพมากกว่าการหมัก SS เพียงอย่างเดียว และน้ำหมักกรดที่ผลิตได้จากถัง CSTR ถูกนำไปใช้เพื่อศีกษาผลของอัตราภาระบรรทุกสารอินทรีย์เริ่มต้น (OLR) ที่มีต่อประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพของถังหมักก๊าซโดยใช้ถังปฎิกรณ์ไร้อากาศแบบแผ่นกั้น (ABR) โดยพบว่าเมื่อเพิ่ม OLR ของทั้งสองชุดการหมักร่วม จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพลดลง และคุณภาพของน้ำที่ปล่อยออกแย่ลง และพบว่าที่ OLR 0.2 Kg COD/m^3.day มีประสิทธิภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพสูงสุด เท่ากับ 404 และ 367 L/Kg TVS_added สำหรับการหมักร่วมของ SS:SPS และ SS:ABS ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราส่วนดังกล่าวมีร้อยละมีเทนสูงเท่ากับ 69.30 และ 72.06 ตามลำดับ (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/70081

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2564


การประเมินวัฏจักรชีวิตของการผลิตชิ้นงานโดยการขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

การประเมินวัฏจักรชีวิตของการผลิตชิ้นงานโดยการขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในกระบวนการได้มาของวัตถุดิบ การใช้งาน และการกำจัดซากชิ้นงาน ของการผลิตโมเดลที่วางโทรศัพท์ 1 ชิ้น โดยการขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ชนิด เอฟดีเอ็ม (การพิมพ์แบบใช้หัวฉีด) จำนวน 2 รุ่น คือ รุ่นที่ผลิตในประเทศไทย และรุ่นที่นำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งขึ้นรูปด้วยพลาสติก 3 ชนิด คือ พีแอลเอ (PLA) เอบีเอส (ABS) และไนลอน (Nylon) โดยผลิตโมเดลขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่งใช้ระยะเวลาการผลิตที่แตกต่างกัน คือ 3 ชั่วโมง และ 6 ชั่วโมง โดยทำการลงพื้นที่เก็บข้อมูลมลพิษทางอากาศ และพลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงขณะใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิตด้วยโปรแกรม Simapro 8.3 ด้วยวิธี IMPACT 2002+ รุ่น 2.13 ผลการศึกษาพบว่า การใช้งานของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมสูงสุดในขั้นตอนการขึ้นรูปชิ้นงานเนื่องจากการใช้พลังงานและการปลอดปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่าย รองลงมาคือ การจัดการผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน และการได้มาของวัตถุดิบ ตามลำดับ ซึ่งระยะเวลาการใช้งานที่เพิ่มขึ้น (6 ชม.) ทำให้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มสูง โดยพลาสติกไนลอนผลกระทบสูงกว่าพลาสติกพีแอลเอ ในด้านความเป็นพิษต่อระบบนิเวศทางน้ำ (Aquatic ecotoxicity) ด้านพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป (Non-renewable energy) และความเป็นพิษต่อระบบนิเวศทางบก (Terrestrial ecotoxicity) นอกจากนี้ในขั้นตอนการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติ พบว่า วัสดุ PLA การใช้วัสดุส่งผลกระทบสูงกว่าการใช้ไฟฟ้า วัสดุ ABS และ Nylon การใช้ไฟฟ้าส่งผลกระทบสูงกว่าการใช้วัสดุ และการเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทั้ง 2 รุ่น ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ต่างกัน (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/64903

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2564


ผลของปุ๋ยคอกมูลวัวและถ่านชีวภาพจากไม้กระถินต่อการยับยั้งการเคลื่อนที่ของสารหนูและแมงกานีสในกากโลหกรรมจากการทำเหมืองแร่ทองคำด้วยหญ้าเนเปียร์แคระ

ผลของปุ๋ยคอกมูลวัวและถ่านชีวภาพจากไม้กระถินต่อการยับยั้งการเคลื่อนที่ของสารหนูและแมงกานีสในกากโลหกรรมจากการทำเหมืองแร่ทองคำด้วยหญ้าเนเปียร์แคระ

การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของปุ๋ยคอกมูลวัว และถ่านชีวภาพจากไม้กระถินต่อการยับยั้งการเคลื่อนที่ของสารหนู และแมงกานีสในกากโลหกรรมปนเปื้อนจากบ่อกักเก็บกากโลหกรรม บริเวณพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทองคำด้วยหญ้าเนเปียร์แคระในโรงเรือนทดลอง โดยแบ่งชุดการทดลองออกเป็น 4 ชุดการทดลอง ได้แก่ 1) ชุดควบคุม (ไม่มีการเติมปุ๋ยคอกและถ่านชีวภาพ) 2) ชุดการทดลองเติมปุ๋ยคอก 3) ชุดการทดลองเติมถ่านชีวภาพ และ 4) ชุดการทดลองเติมปุ๋ยคอกร่วมกับถ่านชีวภาพ ในอัตรา 1, 3 และ 5 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนัก โดยในแต่ละชุดการทดลองทำการเก็บตัวอย่างทุก ๆ 30 วัน เป็นระยะเวลา 120 วัน และทำการศึกษาปริมาณการดูดดึงและสะสมสารหนู และแมงกานีสในส่วนเหนือกากโลหกรรม (ลำต้นและใบ) และส่วนใต้กากโลหกรรม (ราก) ของหญ้าเนเปียร์แคระ ผลการศึกษาพบว่า เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ชุดควบคุมมีการดูดดึงและสะสมสารหนู และแมงกานีสได้สูงที่สุด ในขณะที่ชุดการทดลองที่มีการเติมถ่านชีวภาพที่อัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ สามารถช่วยลดปริมาณการสะสมสารหนู และแมงกานีสในพืชส่วนเหนือกากโลหกรรม และส่วนใต้กากโลหกรรมได้สูงที่สุด คิดเป็น 63.93 และ 78.64 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และสามารถช่วยลดการดูดดึงและสะสมแมงกานีสในส่วนใต้กากโลหกรรม และส่วนเหนือกากโลหกรรมของพืชได้มากที่สุด คิดเป็น 69.93 และ 72.54 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และเมื่อนำมาวิเคราะห์การกระจายตัว และการสะสมสารหนูและแมงกานีส ด้วยเทคนิคไมโครเอกซ์เรย์ฟลูออเรสเซนส์ (SR-XRF) พบว่า ไม่สามารถระบุการกระจายตัว และการสะสมสารหนูในพืชได้ เนื่องจากระดับความเข้มข้นของสารหนูในพืชนั้นต่ำเกินกว่าที่สามารถตรวจวัดได้ หากแต่หญ้าเนเปียร์แคระในชุดการทดลองที่มีการเติมถ่านชีวภาพในอัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ พบว่า มีการกระจายตัว และสะสมแมงกานีส และธาตุอื่น ๆ ได้แก่ แคลเซียม เหล็ก และซัลเฟอร์ น้อยกว่าชุดควบคุม และพบการสะสมธาตุดังกล่าวในบริเวณเนื้อเยื่อชั้นนอกเป็นหลัก ผลการศึกษารูปฟอร์มทางเคมีของสารหนู และแมงกานีสในตัวอย่างพืชและกากโลหกรรม ด้วยเทคนิคเอกซเรย์แอบซอร์บชั่นสเปคโตรสโกปี (SR-XAS) พบว่า การเติมปุ๋ยคอกและถ่านชีวภาพ ไม่ทำให้สารหนูและแมงกานีสที่ปนเปื้อนในกากโลหกรรมเปลี่ยนรูปฟอร์มทางเคมีแต่อย่างใด จึงสามารถสรุปได้ว่า การเติมถ่านชีวภาพ 5 เปอร์เซ็นต์ มีประสิทธิภาพในการตรึงสารหนู และแมงกานีสได้ดีที่สุด ผลการศึกษาในครั้งนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ดินปนเปื้อนบริเวณพื้นที่ของการทำเหมือง และพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งในพื้นที่บ่อกักเก็บกากโลหกรรม ตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ ได้ อีกทั้ง เพื่อยับยั้งการเคลื่อนที่ และการกระจายตัวของสารหนู และแมงกานีส ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/70099

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2564


การบำบัดสารหนูที่ปนเปื้อนในกากโลหกรรมจากการทำเหมืองทองคำด้วยหญ้าเนเปียร์แคระร่วมกับเทคนิคจลนศาสตร์ไฟฟ้า

การบำบัดสารหนูที่ปนเปื้อนในกากโลหกรรมจากการทำเหมืองทองคำด้วยหญ้าเนเปียร์แคระร่วมกับเทคนิคจลนศาสตร์ไฟฟ้า

การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา 1) ผลของปัจจัยทางจลนศาสตร์ไฟฟ้า (ปริมาณสนามไฟฟ้าที่ป้อนและชนิดขั้วอิเล็กโทรด) และลักษณะภาชนะที่ทดลองต่อการเคลื่อนที่ของสารหนูในวุ้น และกากโลหกรรม และ 2) ความสามารถของหญ้าเนเปียร์แคระร่วมกับการใช้จลนศาสตร์ไฟฟ้าในการดูดดึงสารหนูที่ปนเปื้อนในกากโลหกรรม และสะสมไว้ในส่วนเหนือกากโลหกรรม (ลำต้นและใบ) และส่วนใต้กากโลหกรรม (ราก) การศึกษาการเคลื่อนที่ของสารหนูในตัวกลางวุ้นที่มีการเติมสารหนูความเข้มข้น 50 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีการป้อนสนามไฟฟ้าที่ 1 และ 2 โวลต์ต่อเซนติเมตร ที่ระยะเวลา 72 ชั่วโมงต่อเนื่อง พบว่า ในแต่ละชุดการทดลองมีแนวโน้มค่าของการเคลื่อนที่สารหนูที่คล้ายกัน คือ ในบริเวณที่ 1, 2, 3, 4, 6, 7, 8 และ 9 ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการวางขั้วแคโทด มีการสะสมสารหนูในปริมาณที่ต่ำ สำหรับบริเวณที่ 5 ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการวางขั้วแอโนด มีการสะสมสารหนูในปริมาณสูงที่สุด ผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของสารหนูในตัวกลางวุ้น พบว่า รูปแบบภาชนะทรงกลมและขั้วกราไฟท์ที่ป้อนสนามไฟฟ้าที่ 2 โวลต์ต่อเซนติเมตร ให้ประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่ของสารหนูได้ดีที่สุด การเคลื่อนที่ของสารหนูในตัวกลางกากโลหกรรมที่มีความเข้มข้นของสารหนู 60.02 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่ถูกบำบัดด้วยการป้อนสนามไฟฟ้าที่ 1 และ 2 โวลต์ต่อเซนติเมตร ที่ระยะเวลา 3, 5 และ 7 วันต่อเนื่อง พบว่า ระยะเวลาที่ 5 วัน การป้อนสนามไฟฟ้าที่ 2 โวลต์ต่อเซนติเมตร มีผลต่อการเคลื่อนที่ของสารหนูดีที่สุด โดยเคลื่อนที่มาบริเวณระหว่างขั้วแอโนดและแคโทด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 63.07±1.60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในส่วนการบำบัดกากโลหกรรมที่ปนเปื้อนสารหนูด้วยหญ้าเนเปียร์แคระร่วมกับการใช้จลนศาสตร์ไฟฟ้าที่ปริมาณสนามไฟฟ้าแตกต่างกัน (0, 1, 2 และ 4 โวลต์ต่อเซนติเมตร) ที่ระยะเวลา 15, 30, 45, 60, 75, 90, 105 และ 120 วัน พบว่า พืชสามารถดูดดึงและสะสมสารหนูได้สูงที่สุดในส่วนรากของชุดการทดลองที่บำบัดด้วยสนามไฟฟ้า 1 โวลต์ต่อเซนติเมตร เป็นเวลา 90 วัน โดยมีค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของสารหนูเท่ากับ 7.69±0.16 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อพิจารณาปริมาณสารหนูที่สะสมต่อมวลชีวภาพของพืช พบว่า ชุดการทดลองที่บำบัดด้วยสนามไฟฟ้าที่ 1 และ 2 โวลต์ต่อเซนติเมตร ที่ระยะเวลา 120 วันนั้น แสดงค่าดังกล่าวสูงสุด (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/70096

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2564


Collection