กลไกการดูดดึงแคดเมียมจากน้ำเสียโดยหญ้าเนเปียร์แคระ

กลไกการดูดดึงแคดเมียมจากน้ำเสียโดยหญ้าเนเปียร์แคระ

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ ศึกษาผลของการเติมสารอีดีทีเอต่อการสะสมแคดเมียมในหญ้าเนเปียร์แคระ โดยทำการศึกษาหาระดับความเข้มข้นของแคดเมียมและสารอีดีทีเอ ที่ระดับความเข้มข้น 20, 40, 60, 80, และ 100 มิลลิกรัมต่อลิตร และอัตราส่วนโมลระหว่างแคดเมียมและสารอีดีทีเอ ในอัตาส่วน 1:0.5, 1:1, และ 1:2 โมล ที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ดี มีการแสดงความเป็นพิษต่ำ และมีการสะสมแคดเมียมได้ในปริมาณมาก จากการศึกษาพบว่า แคดเมียมที่ระดับความเข้มข้น 40 มิลลิกรัมต่อลิตร และอัตราส่วนโมลระหว่างแคดเมียมและสารอีดีทีเอที่ 1:2 โมลมีความเหมาะสมสูงสุด กล่าวคือ พืชทดลองสามารถเจริญเติบโตได้ดี มีการแสดงความเป็นพิษต่ำ และมีการดูดดึงแคดเมียมได้ในปริมาณมาก สำหรับการศึกษากลไลการสะสมแคดเมียมในพืช จากการทดลองเปรียบเทียบชุดการทดลองที่มีการเติมแคดเมียม 40 มิลลิกรัมต่อลิตร และชุดการทดลองที่มีการเติมแคดเมียม 40 มิลลิกรัมต่อลิตรร่วมกับสารอีดีทีเอในอัตราส่วน 1:2 โมล จากการวิเคราะห์หาปริมาณการสะสมแคดเมียมในพืช พบว่า เมื่อสิ้นสุดการทดลองหญ้าเนเปียร์แคระมีการสะสมแคดเมียมสูงสุดเท่ากับ 1,016.29 มิลลิกรัม โดยสะสมที่ส่วนใต้น้ำ (ราก) และส่วนเหนือน้ำ (ลำต้นและใบ) เท่ากับ 683.70 และ 333.69 มิลลิกรัมต่อต้น ตามลำดับ จากนั้นนำพืชที่มีการสะสมแคดเมียมสูงที่สุด อีกส่วนที่เตรียมไว้ มาทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยเครื่องเลเซอร์อะบเลชั่นอินดักทีฟลีคอบเพิลพลาสมาร์แมสสเปกโทรเมทรี (LA-ICP-MS) และลำแสงซินโครตรอนเทคนิคไมโครเอ็กซเรย์ฟลูออเรสเซนซ์ (SR-XRF) พบว่า หญ้าเนเปียร์แคระมีการสะสมแคดเมียมสูงบริเวณเนื้อเยื่อชั้นนอก และท่อลำเลียงอาหาร ทั้งนี้การเติมสารอีดีทีเอ ส่งผลให้มีการดูดดึงแคดเมียมและเคลื่อนที่ไปสะสมในเนื้อเยื่อชั้นในเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า แคดเมียมมีการสะสมบริเวณส่วนใต้น้ำของหญ้าเนเปียร์แคระเป็นส่วนมาก โดยผลการทดลองที่ได้มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงปริมาณที่วิเคราะห์ด้วยเครื่องอะตอมมิคแอบซอฟชั่นสเปกโตรมิเตอร์ (AAS) จึงสามารถระบุได้ว่า มีการสะสมแคดเมียมบริเวณส่วนใต้น้ำของหญ้าเนเปียร์แคระสูงสุด โดยเฉพาะชุดการทดลองที่มีการเติมสารอีดีทีเอ นอกจากนี้มีการศึกษาปัจจัยของสารอีดีทีเอต่อการเปลี่ยนฟอร์มของแคดเมียมในพืชร่วมด้วย โดยการใช้ลำแสงซินโครตรอน เทคนิคเอ็กเลย์แอบซอร์บชั่นสเปคโตรสโกปี (SR-XAS) ผลการศึกษาพบว่า เติมสารอีดีทีเอไม่ได้ทำให้แคดเมียมเปลี่ยนฟอร์มแต่อย่างใด จึงสามารถสรุปได้ว่าสารอีดีทีเอมีความเหมาะสมในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดดึงแคดเมียมในหญ้าเนเปียร์แคระได้ดีที่สุด (บางส่วนจากบทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63275

หนังสือเล่มหนึ่งจากหนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2563


การใช้จุลสาหร่ายร่วมกับตะกอนจุลชีพในการบำบัดน้ำเสีย

การใช้จุลสาหร่ายร่วมกับตะกอนจุลชีพในการบำบัดน้ำเสีย

งานวิจัยนี้ ศึกษาการบำบัดซีโอดีโดยจุลสาหร่ายร่วมกับตะกอนจุลชีพในสภาวะที่มีแสงและไม่มีแสงเดินระบบด้วยน้ำเสียสังเคราะห์ที่ความเข้มข้น 1,000 มก.ซีโอดี/ล. ผลการทดลองพบว่า ค่าซีโอดีลดลงตามปฏิกิริยาอันดับหนึ่ง ซึ่งอัตราการบำบัดของจุลสาหร่ายร่วมกับตะกอนจุลชีพที่สภาวะให้แสง มีอัตราการบำบัดสูงสุด (k1) 0.76 ต่อวัน โดยไม่มีซีโอดีคงเหลือในระบบ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการบำบัดซีโอดีโดยจุลสาหร่ายร่วมกับตะกอนจุลชีพที่สภาวะไม่ให้แสง 0.45 ต่อวัน ดังนั้นการใช้จุลสาหร่ายช่วยบำบัดสารอินทรีย์ในน้ำเสีย จะทำให้ซีโอดีในระบบลดลงจนหมดในสภาวะที่มีแสง แต่ในสภาวะที่ไม่มีแสงจะยังคงมีซีโอดีเหลืออยู่ในระบบ แสดงให้เห็นว่าแสงเป็นปัจจัยสำคัญของการเจริญเติบโตของจุลสาหร่ายซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการบำบัดซีโอดี จากการศึกษาผลของการบำบัดซีโอดีที่ความเข้มข้น 50 100 200 500 และ 1,000 มก.ซีโอดี/ล. โดยจุลสาหร่ายร่วมกับตะกอนจุลชีพในสภาวะที่มีแสง พบว่าอัตราการบำบัดซีโอดีเท่ากับ 128.0 158.4 352.0 657.8 และ 1547.5 มก.ซีโอดี/ล./วัน ตามลำดับ มีแนวโน้มของอัตราการบำบัดซีโอดีตามปฏิกิริยาอันดับหนึ่งคือ 0.99 ต่อวัน และอัตราการบำบัดจำเพาะของจุลสาหร่ายและตะกอนจุลชีพคือ 0.0282 วัน ผลการทดลองของระยะเวลากักเก็บน้ำ พบว่า ประสิทธิภาพการบำบัดซีโอดีที่ระยะเวลากักเก็บ 1 2 4 และ 8 วัน เท่ากับร้อยละ 70.52±3.80 83.49±2.59 90.63±2.48 และ 92.53±2.84 ตามลำดับ ซึ่งระยะเวลากักเก็บที่ 4 วัน น่าจะเหมาะสมที่สุด (จากบทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63649

หนังสือเล่มหนึ่งจากหนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2563


การใช้เศษแก้วในการทำอิฐคอนกรีตเพื่อใช้เป็นทางเลือกในการจัดการเศษแก้วในเกาะสีชัง

การใช้เศษแก้วในการทำอิฐคอนกรีตเพื่อใช้เป็นทางเลือกในการจัดการเศษแก้วในเกาะสีชัง

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อ ศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมในการใช้เศษแก้วแทนที่มวลรวม และระยะเวลาบ่มในการผลิตอิฐคอนกรีต รวมทั้งประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ และประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเศษแก้วบนเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี การใช้เศษแก้วแทนที่มวลรวมที่ทำการศึกษา คือ ร้อยละ 0 10 20 30 และ 100 ระยะเวลาบ่มที่ 7 14 และ 28 วัน และมีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 0.150 ถึง 4.75 มิลลิเมตร จากการศึกษาคุณสมบัติของอิฐคอนกรีตพบว่า การใช้เศษแก้วแทนที่ทรายหยาบร้อยละ 20 บ่มที่ 28 วัน ให้กำลังรับแรงอัดสูงที่สุด (48.49 เมกะปาสคาล) และให้การดูดซึมน้ำต่ำที่สุด (5.35%) ซึ่งมีกำลังรับแรงอัดสูงกว่าอิฐคอนกรีตที่ไม่มีการแทนที่ด้วยเศษแก้ว (ร้อยละ 0) และบ่มที่ 28 วัน ซึ่งมีกำลังรับแรงอัดเท่ากับ 45.06 เมกะปาสคาล (สูงกว่าร้อยละ 7.61) จากการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์โดยโปรแกรมสำเร็จรูป SimaPro 8.3 ใช้วิธี Eco-indicator 99 พิจารณาตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบ การขนส่ง และการผลิต พบว่าอิฐคอนกรีตที่ใช้เศษแก้วแทนที่ทรายหยาบร้อยละ 20 (1.33 Pt) มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าอิฐคอนกรีตทั่วไป (1.56 Pt) และสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ร้อยละ 17.3 (ต่อการใช้งาน 1 ตารางเมตร) และการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าจุดคุ้มทุนของการนำเศษแก้วมาใช้ในการผลิตอิฐคอนกรีตเท่ากับ 233,333 ก้อน ระยะเวลาในการคืนทุนเท่ากับ 17 เดือน ดังนั้น เศษแก้วสามารถใช้แทนที่มวลรวมบางส่วนในการผลิตอิฐคอนกรีต และสามารถใช้เป็นวัสดุทางเลือกสำหรับการจัดการเศษแก้วได้ (จากบทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63288

หนังสือเล่มหนึ่งจากหนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2563


การพัฒนาการรู้สิ่งแวดล้อมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโดยใช้แนวคิดกรีนสะเต็มศึกษา

การพัฒนาการรู้สิ่งแวดล้อมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโดยใช้แนวคิดกรีนสะเต็มศึกษา

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อศึกษาระดับการรู้สิ่งแวดล้อมโดยเฉลี่ยของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายภายหลังที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดกรีนสะเต็มศึกษา (2) เพื่อเปรียบเทียบระดับการรู้สิ่งแวดล้อมโดยเฉลี่ยระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดกรีนสะเต็มศึกษา กลุ่มที่ศึกษาคือนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร การวิจัยนี้เป็นการทดลองเชิงวิจัยเบื้องต้น มีรูปแบบการวิจัยแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนและหลังเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดกรีนสะเต็มศึกษา แบบวัดการรู้สิ่งแวดล้อม โดยมีค่าดัชนีความตรงเชิงเนื้อหาอยู่ที่ 0.86 ค่าความยากอยู่ระหว่าง 0.33-0.90 ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.20-0.80 ค่าความเที่ยงโดยสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ 0.85 และค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างผู้ประเมินอยู่ระหว่าง 0.85-0.96 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าเฉลี่ยร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติทดสอบทีแบบไม่เป็นอิสระ ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ (1) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดกรีนสะเต็มศึกษามีการรู้สิ่งแวดล้อมในระดับสูง (2) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดกรีนสะเต็มศึกษามีระดับการรู้สิ่งแวดล้อมหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (บางส่วนจากบทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63368

หนังสือเล่มหนึ่งจากหนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2563


แนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านกระแสลมของอาคารต่อสภาพแวดล้อมเมือง

แนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านกระแสลมของอาคารต่อสภาพแวดล้อมเมือง

การขยายตัวของอาคารประเภทต่างๆ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเดิม โดยเฉพาะการเคลื่อนที่ของกระแสลมในพื้นที่ซึ่งมีอาคารสูงค่อนข้างมาก และทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการบดบังลมหรือการเกิดช่องลมแรง ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้พื้นที่ งานวิจัยนี้จึงมุ่งประเด็นในเรื่อง การศึกษาผลกระทบของรูปทรงและทิศทางการวางอาคารต่อสภาพแวดล้อมเมืองหรือพื้นที่โดยรอบอาคาร ขอบเขตการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งตามความหนาแน่นหรืออัตราส่วนพื้นที่ปกคลุมดิน 6 ระดับ (GCR10-60%) ผลการจำลองด้วยโปรแกรมการคำนวณพลศาสตร์ของไหล (CFD) พบว่า พื้นที่ซึ่งมีความหนาแน่นของพื้นที่คลุมดินมาก หรือ GCR 30-60% ได้รับผลกระทบจากการออกแบบและทิศทางการวางอาคารต่างๆค่อนข้างน้อย ในขณะที่การสร้างอาคารบางรูปแบบ บนพื้นที่ซึ่งมีความหนาแน่นของพื้นที่คลุมดินน้อย หรือ GCR 10-30% ทำให้เกิดลมแรงหรือเกิดพื้นที่อับลมมาก และเป็นบริเวณกว้าง พื้นที่กรณีศึกษา GCR = 60% และ GCR = 40% สามารถสร้างอาคารที่มีรูปแบบและทิศทางหลากหลายกว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งหมายความว่าในสภาพแวดล้อมเมืองที่หนาแน่นอยู่แล้ว อาคารใหม่ที่เพิ่มเติมเข้าไปจะไม่มีส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการตั้งอาคารใหม่ลงบนพื้นที่ข้างเคียงที่มีความหนาแน่นน้อย ผลการศึกษาได้นำมาสู่การประเมินผลกระทบของกระแสลมต่อสภาพแวดล้อมเมือง สามารถพิจารณารูปแบบและทิศทางการวางอาคารเบื้องต้นให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้พื้นที่โดยรอบมีเปอร์เซ็นต์ acceptable period ของกระแสลมในปริมาณมาก และก่อผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด โดยไม่เสียประโยชน์ด้านการใช้ที่ดิน รวมถึงสามารถลดขั้นนตอนการยื่นเสนอรายงาน และสร้างมาตรฐานในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะประเด็นด้านกระแสลม (จากบทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55227

หนังสือเล่มหนึ่งจากหนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2563


การสื่อสารตราสินค้า ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมผู้บริโภคต่อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของเจเนอเรชั่นวาย

การสื่อสารตราสินค้า ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมผู้บริโภคต่อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของเจเนอเรชั่นวาย

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาการสื่อสารตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ประเภทสินค้าที่เลือกใช้ในงานวิจัยเป็นสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพผิว ได้แก่ ตราสินค้า The Body Shop และตราสินค้า L’Occitane ซึ่งเป็นตราสินค้าที่มีจำหน่ายในประเทศไทย โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการศึกษาจากเอกสารจากสื่อต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ร้านค้า และ บทความโฆษณา ในช่วงระยะเวลา 1 ปี (2) วิเคราะห์ความแตกต่างของการรับรู้ ทัศนคติ และการตัดสินใจซื้อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคกลุ่มเจนวายที่มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน (3) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการรับรู้ ทัศนคติ และการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกลุ่มเจนวายต่อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้วิธีเชิงปริมาณ มีแบบสอบถามเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเพศชายและหญิง อายุ 18-38 ปี ที่รู้จักและทราบว่าทั้งสองตราสินค้ามีการดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อม ผลการวิจัยตราสินค้า The Body Shop และ L’Occitane ในประเทศไทยโดยวิเคราะห์ช่องทางการสื่อสารทั้งหมด 6 ช่องทาง ได้แก่ เอกลักษณ์ขององค์กร แผนการรณรงค์เชิงการตลาดเหตุสัมพันธ์ การโฆษณาองค์กร การประชาสัมพันธ์องค์กร การสื่อสารผ่านผู้แทนองค์กร และ ผู้สนับสนุนกิจกรรม พบว่า ทั้งสองตราสินค้ามีการสื่อสารประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยตราสินค้า The Body Shop เน้นประเด็นการสื่อสารเกี่ยวกับสัตว์ และตราสินค้า L’Occitane เน้นประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติของแคว้นโพวองซ์ ซึ่งตราสินค้า The Body Shop มีการสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนกว่า สำหรับผลการศึกษาในส่วนการวิจัยเชิงปริมาณ พบว่า ผู้บริโภคที่มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน มีการรับรู้ ทัศนคติ และการตัดสินใจซื้อตราสินค้าสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่า การรับรู้ตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับทัศนคติต่อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ทัศนคติต่อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการตัดสินใจซื้อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม และการรับรู้ตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการตัดสินใจซื้อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (บางส่วนจากบทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/60244

หนังสือเล่มหนึ่งจากหนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์สิ่งแวดล้อม” เดือน มิถุนายน 2563


LOCATIONCALL#STATUS
Communication Arts Library : Thesis3684CHECK SHELVES

Collection