อิทธิพลของความรักความเข้าใจในครอบครัวต่อคุณธรรมจริยธรรมของเด็กและเยาวชนไทย

อิทธิพลของความรักความเข้าใจในครอบครัวต่อคุณธรรมจริยธรรมของเด็กและเยาวชนไทย

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของความรักความเข้าใจในครอบครัวที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กและเยาวชนกับครอบครัวของตนต่อคุณธรรมจริยธรรมของเด็กและเยาวชน โดยศึกษาสถานการณ์ความรักความเข้าใจในครอบครัวและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาวิธีการและแนวทางการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ผู้ปกครอง แบบแผนการวิจัยเป็นแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาพบว่า ความรักความเข้าใจในครอบครัวมีอิทธิพลต่อคุณธรรมจริยธรรมของเด็กเป็นอย่างมากและเป็นไปในทางบวก โดยหากเด็กและเยาวชนได้รับความรักความเข้าใจในครอบครัวมากจะมีความสัมพันธ์ต่อคุณธรรมจริยธรรมส่วนตนให้เป็นไปในทางบวกเช่นกัน นอกจากนี้ปัจจัยลักษณะประชากรของเด็กและเยาวชนบางประการมีอิทธิพลต่อคุณธรรมจริยธรรมของเด็กเช่นกัน ประกอบด้วย ภาคที่อยู่อาศัย เพศ อายุ และการศึกษา ในขณะที่มีปัจจัยลักษณะครัวเรือนเพียงบางประการเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับคุณธรรมจริยธรรม และปัจจัยลักษณะผู้ปกครองเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ไม่มีความสัมพันธ์กับคุณธรรมจริยธรรม นอกจากนี้ผลการศึกษาเชิงคุณภาพพบว่า พ่อแม่เลี้ยงดูลูกด้วยความเอาใจใส่และพร้อมที่จะให้ความรักความเข้าใจแก่ลูกอยู่เสมอ อีกทั้งยังตระหนักและมุ่งเน้นที่จะปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐานแก่ลูกของตนโดยคุณธรรมหลักที่เน้นปลูกฝังได้แก่ ความซื่อสัตย์และรับผิดชอบต่อหน้าที่โดยมุ่งหวังให้ลูกเป็นคนดีของครอบครัวและสังคม การศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนและจัดทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนาครอบครัวอย่างถูกวิธี เพื่อส่งเสริมการให้ความรักความเข้าใจในครอบครัวอันจะช่วยเสริมสร้างผลผลิตหรือเด็กและเยาวชนที่มีคุณธรรมจริยธรรมอันเป็นสมาชิกของสังคมที่มีคุณภาพ (บางส่วนจากบทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/61243


แนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ของครอบครัวแหว่งกลางเพื่อส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของเด็กภายใต้ความคิดครอบครัวนิเวศ

แนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ของครอบครัวแหว่งกลางเพื่อส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของเด็กภายใต้ความคิดครอบครัวนิเวศ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การเรียนรู้ของครอบครัวแหว่งกลาง และวิเคราะห์ปัจจัยและเงื่อนไข ตามความคิดครอบครัวนิเวศเพื่อการส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของเด็กในครอบครัวแหว่งกลาง รวมทั้งนำเสนอแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ของครอบครัวแหว่งกลางเพื่อส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของเด็กภายใต้ความคิดครอบครัวนิเวศ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมวิธี (Mixed Methods) ผลการวิจัยพบว่า 1. ครอบครัวแหว่งกลางมีความรู้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของเด็กในระดับปานกลาง ทั้งด้านการเป็นพ่อแม่ ด้านการดูแลตัวเองของปู่/ย่า/ตา/ยาย ด้านการจัดการทรัพยากรครอบครัว และด้านกฎหมาย แม้ครอบครัวแหว่งกลางจะยังขาดความรู้ด้านกฎหมาย และด้านการจัดการทรัพยากรครอบครัว แต่ครอบครัวกลับมีความต้องการอย่างมากที่จะเรียนรู้ในด้านการเป็น พ่อแม่ และด้านการดูแลตัวเองของปู่/ย่า/ตา/ยาย ส่วนผู้ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้สำหรับครอบครัวแหว่งกลางที่สำคัญที่สุด ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โทรทัศน์ วิทยุ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วิธีการจัดการเรียนรู้สำหรับครอบครัวแหว่งกลางที่สำคัญที่สุด คือ การไปรับข้อมูลข่าวสารด้วยตนเองที่หน่วยบริการทางสังคมในชุมชน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อบต. และพบว่า วิธีจัดการเรียนรู้สำหรับครอบครัวแหว่งกลางที่มีช่องว่างมากที่สุด 3 วิธี ได้แก่ (1) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการในเครือญาติและชุมชน (2) สื่อในชุมชน หอกระจายข่าวและวิทยุชุมชน และ (3) สื่อออนไลน์ เช่น สมาร์ทโฟน อินเตอร์เน็ตตำบล สำหรับปัญหาในการเรียนรู้ของครอบครัวแหว่งกลางเพื่อการส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของเด็ก จำแนกได้เป็น 6 ประเด็น ได้แก่ (1) ลักษณะครอบครัวแหว่งกลาง (2) สุขภาพของปู่ ย่า ตา ยายในครอบครัวแหว่งกลาง (3) เศรษฐกิจของครอบครัวแหว่งกลาง (4) ความสัมพันธ์ในระบบครอบครัวนิเวศของครอบครัวแหว่งกลาง (5) สังคมวัฒนธรรม เทคโนโลยีและสื่อ และ (6) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวแหว่งกลาง 2. ปัจจัยในการส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของเด็กในครอบครัวแหว่งกลางครอบคลุม (1) รายได้รวมของครอบครัว (2) การอยู่ร่วมกันของพ่อแม่ (3) ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวแหว่งกลาง (4) ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับชุมชน (5) ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวแหว่งกลางกับชุมชน และ (6) ความอยู่ดีมีสุขของปู่ ย่า ตา ยาย (บางส่วนจากบทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58114


ประสบการณ์ทางจิตใจของวัยรุ่นที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงที่มีภูมิหลังครอบครัวขัดแย้งสูง

ประสบการณ์ทางจิตใจของวัยรุ่นที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงที่มีภูมิหลังครอบครัวขัดแย้งสูง

การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความ (Interpretative Phenomenological Analysis: IPA) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของวัยรุ่นที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงที่มีภูมิหลังครอบครัวขัดแย้งสูง โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคลแบบกึ่งมีโครงสร้าง (Semi-structured interview) ผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย มีอายุตั้งแต่ 18-22 ปี ที่รายงานว่าตนมีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงและมีการรับรู้ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองสูงจากการตอบแบบสอบถาม โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าประสบการณ์ของผู้ให้ข้อมูลสามารถสรุปได้เป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นหลักที่ 1 รูปแบบของความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ที่ตนเผชิญ ได้แก่ สาเหตุความขัดแย้งของพ่อแม่ การแสดงออกของพ่อแม่ต่อความขัดแย้ง และการกลับมาเป็นปกติในความสัมพันธ์ของพ่อแม่ ประเด็นหลักที่ 2 ปฏิกิริยาของลูกที่มีต่อความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ ได้แก่ การรับมือของลูกต่อความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ และสิ่งที่ลูกได้เรียนรู้จากความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ และประเด็นหลักที่ 3 การมีทรัพยากรที่เอื้อต่อการมีความมั่นคงทางจิตใจ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล และทรัพยากรที่มั่นคงภายในจิตใจ โดยผู้วิจัยได้สรุปและอภิปรายไว้เกี่ยวกับปัจจัยที่เอื้อต่อการมีความมั่นคงทางจิตใจของวัยรุ่น (บางส่วนจากบทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/60082


ความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ

ความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือ 1) เพื่อศึกษาความเป็นปึกแผ่นของประชากรต่างรุ่นในครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือรวมถึง 2) เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความเป็นปึกแผ่นของประชากรต่างรุ่นในครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ และ 3)เพื่อศึกษารูปแบบโครงสร้างและความสัมพันธ์ในครอบครัวในอนาคตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ โดยอาศัยการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 5 ส่วนสำคัญดังนี้ 1) ระดับความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ จากมิติของความเป็นปึกแผ่นใน 4 มิติ คือ ความเป็นปึกแผ่นเชิงหน้าที่ ความเป็นปึกแผ่นเชิงความรู้สึก มิติความเป็นปึกแผ่นเชิงบรรทัดฐาน และความเป็นปึกแผ่นเชิงปฏิสัมพันธ์ร่วม พบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาเผ่าประชากรต่างรุ่นในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือโดยรวมมีระดับความเป็นปึกแผ่นมาก โดยกลุ่มชาติพันธุ์ม้งมีระดับสูงที่สุด 2) ปัจจัยทางด้านทุนทางสังคม ในส่วนของ จำนวนบุตรในครอบครัว จำนวนสมาชิกในครอบครัว และลักษณะรูปแบบโครงสร้างครอบครัว ปัจจัยทางด้านความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ปัจจัยทางด้านทุนทางเศรษฐกิจ และสถานภาพการทำงาน มีผลต่อระดับความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือโดยรวม และในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ 3) แนวโน้มโครงสร้างครอบครัวในด้านจำนวนบุตรของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือจากอดีตสู่อนาคต พบว่ามีแนวโน้มที่ลดลง 4) ปัจจัยทางด้านความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ปัจจัยทางด้านทุนทางสังคม ในส่วนของ ลักษณะรูปแบบโครงสร้างครอบครัว ปัจจัยทางด้านมิติความสัมพันธ์ระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัว ปัจจัยทางด้านทุนมนุษย์ในส่วนของระดับการศึกษา มีผลต่อจำนวนบุตรในปัจจุบันและความต้องการจำนวนบุตรที่จะมีในอนาคตในครอบครัวของกลุ่มาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือโดยรวม และในแต่ละกลุ่มชาตพันธุ์ 5) ภาพอนาคตของครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือสอดคล้องกันทุกกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่ ปัจจัยด้านทุนทางสังคมที่ให้ความสำคัญกับการสมรสการสร้างครอบครัวซึ่งยังคงยึดถือปฏิบัติเป็นจารีตประเพณีที่สำคัญ รวมทั้งความต้องการในการอยู่ร่วมกันหลายรุ่นในครอบครัว ในส่วนปัจจัยความสัมพันธ์และความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ลดลง แต่ยังคงมีความเชื่อเรื่องกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาที่ยังเหนียวแน่นจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนในด้านของปัจจัยทุนมนุษย์ในอนาคตจะมีการย้ายถิ่นมากขึ้นเนื่องจากมีความต้องการในการทำงานที่มีความมั่นคงทางรายได้ รวมไปถึงการย้ายถิ่นเพื่อการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองที่เพิ่มมากขึ้น (บางส่วนจากบทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59469


ผลของจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลแบบครอบครัวเป็นฐานต่อภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ผลของจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลแบบครอบครัวเป็นฐานต่อภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

การศึกษานี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก่อนและหลังการทำจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลแบบครอบครัวเป็นฐาน และเพื่อเปรียบเทียบภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลุ่มที่ได้รับการทำจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลแบบครอบครัวเป็นฐานกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่าง คือผู้ป่วยอายุ 20 -59 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า รักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จำนวน 40 รายแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 20 คน กลุ่มควบคุม 20 คนโดยการจับคู่ด้วยเพศและอายุของผู้ป่วย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือโปรแกรมจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลแบบครอบครัวเป็นฐาน แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินภาวะซึมเศร้า Hamilton Rating Scale for Depression (HRSD-17) เครื่องมือกำกับการทดลองคือ แบบประเมินสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Thai interpersonal Questionnaire) ตรวจความตรงเชิงเนื้อหาจำนวน 5 คน ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ .87 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงมาตรฐาน และสถิติทดสอบที ผลการวิจัยพบว่า 1. คะแนนภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลังการทำจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลแบบครอบครัวเป็นฐานลดลงจากก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ.05 2. คะแนนภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลุ่มที่ได้รับการทำจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลแบบครอบครัวเป็นฐานแตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับการรักษาพยาบาลปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ.05 (บางส่วนจากบทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59524


การพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมตามหลักวิถีชีวิตสีเขียวเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของครอบครัว

การพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมตามหลักวิถีชีวิตสีเขียวเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของครอบครัว

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของครอบครัวที่มีวิถีชีวิตสีเขียวจากกรณีศึกษาที่ดีเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตแบบมีส่วนร่วม จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นครอบครัวสีเขียวที่เป็นกรณีศึกษาที่ดีในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และ (2) เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมตามหลักวิถีชีวิตสีเขียวเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของครอบครัว ใช้การวิจัยแบบมีส่วนร่วมระหว่างผู้วิจัยและครอบครัวทดลอง ผลการวิจัยพบว่า วัตถุประสงค์ข้อ 1 ข้อมูลพื้นฐานของครอบครัวสีเขียว ประกอบด้วย 1) พื้นฐานของครอบครัว ได้แก่ สมาชิกครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันสมาชิกสามารถจัดการพื้นที่ในบ้านให้ใช้ประโยชน์ได้และ สมาชิกมีพื้นความรู้ ความสนใจบางอย่างที่นำมาใช้ในการปฏิบัติตามวิถีชีวิตสีเขียวได้ 2) แรงจูงใจในการมีวิถีชีวิตสีเขียว มาจากปัญหาสุขภาพ ความตระหนักในสิ่งแวดล้อมของโลก และความสนใจในเกษตรกรรม 3) เนื้อหาของวิถีชีวิตสีเขียวที่ปฏิบัติ แบ่งได้เป็น การปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่น และการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล 4) การเรียนรู้ของครอบครัวในการมีวิถีชีวิตสีเขียวเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว 5) สุขภาวะของครอบครัว ส่วนใหญ่ดีขึ้นจากเดิมทั้งทางกาย จิตใจ และสังคม และ 6) กระบวนการเรียนรู้ของครอบครัว มี 9 ขั้นตอน อาทิ การเริ่มต้นจากแรงจูงใจด้านปัญหาสุขภาพ การเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ การลงมือทำในครอบครัว การเรียนรู้เพิ่มเติมเมื่อพบปัญหาและอุปสรรคจากแหล่งเรียนรู้หรือประสบการณ์ของสมาชิกครอบครัว วัตถุประสงค์ข้อ 2 กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมตามหลักวิถีชีวิตสีเขียวเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของครอบครัว พบว่า ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การเรียนรู้เพื่อการเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลง 2) การเรียนรู้เพื่อรับหรือปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือวิธีปฏิบัติและ 3) การเรียนรู้จากผลของการเปลี่ยนแปลงซึ่งในแต่ละขั้นตอนประกอบด้วยปัจจัยและเงื่อนไขที่จะทำให้กระบวนการเรียนรู้ในขั้นนั้นๆ ประสบความสำเร็จหรือเกิดอุปสรรคได้โดยที่ปัจจัย ได้แก่ สมาชิกของครอบครัวเปิดใจในการร่วมกันเรียนรู้ และการสื่อสารที่ดีในครอบครัว เงื่อนไข ได้แก่ ความสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในครอบครัว และ การปฏิบัติที่เกิดขึ้นนั้นต้องจริงจังและต่อเนื่อง การวิจัยเรื่องนี้สร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับวิถีชีวิตสีเขียวและเนื้อหาของครอบครัวสีเขียวที่มาจากวิธีการตามหลักวิชา และกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมตามหลักวิถีชีวิตสีเขียวเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของครอบครัว ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อบุคคล ครอบครัว ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำไปใช้ทั้งในชีวิตประจำวันและส่งเสริมการเรียนรู้ต่อกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะที่เป็นครอบครัว ตลอดจนผู้สนใจกลุ่มอื่น ๆ ต่อไปได้ (บางส่วนจากบทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58088


Collection