ท่านถาม-เราตอบ

ประจำเดือน กรกฎาคม 2546


วันที่ติดบอร์ด    31 กรกฎาคม 2546

คำถาม     ควรปรับปรุงให้มี E-Books

คำตอบ      สถาบันฯกำลังศึกษาความเป็นไปได้ ความพร้อมและข้อจำกัดต่างๆในการซื้อ E-Books มาให้บริการอยู่ อย่างไรก็ตามขณะนี้สถาบันฯเองได้จัดทำ E-Books ประเภทวิทยานิพนธ์ งานวิจัยของนิสิต/อาจารย์/บุคลากรจุฬาฯ มาให้บริการ แต่ขณะนี้ให้บริการได้เฉพาะงานวิจัย สำหรับวิทยานิพนธ์ยังมีปัญหาด้านลิขสิทธิ์อยู่จึงยังใช้ไม่ได้ หากสนใจเข้าใช้บริการได้ที่ www.car.chula.ac.th และเลือกหัวข้อ E-Book

 

คำถาม     อยากให้ซื้อนวนิยายใหม่ๆ เพิ่มค่ะ

คำตอบ      หอสมุดกลางจัดซื้อนวนิยายน้อยค่ะ จะจัดซื้อเฉพาะนวนิยายได้รับรางวัล หรือชื่อที่เราเห็นว่าน่าสนใจมากๆเท่านั้น

 

คำถาม     ขอเสนอแนะหนังสือต่อไปนี้

คำตอบ      จะดำเนินการจัดซื้อต่อไป

 

คำถาม     เรื่องการถ่ายเอกสาร

  1. เครื่องถ่ายเอกสารและจำนวนคนให้บริการไม่เพียงพอ และขอให้ขยายเวลาการให้บริการการถ่ายเอกสาร

  2. ค่าถ่ายเอกสารที่ศูนย์เอกสารประเทศไทยแพงกว่าส่วนอื่นๆในสถาบันฯ

  3. พนักงานถ่ายเอกสารที่ชั้น 1 เลือกปฏิบัติในเรื่องการเก็บค่ามัดจำ

  4. พนักงานถ่ายเอกสารผู้หญิงที่ปฏิบัติงานชั้น 1 กริยามารยาทไม่เรียบร้อย พูดจาไม่สุภาพกับลูกค้า

คำตอบ      

  1. เครื่องถ่ายเอกสารและจำนวนคนให้บริการไม่เพียงพอ และขอให้ขยายเวลาการให้บริการการถ่ายเอกสาร
    สถาบันฯได้ให้ศูนย์บริการวิชัยยุทธ เข้าดำเนินการให้บริการถ่ายเอกสารในสถาบันฯตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546 โดยมีจุดบริการและผู้ให้บริการตามชั้นต่าง ๆ ดังนี้

    • ชั้น 1 บริเวณห้องวิทยานิพนธ์ มีเครื่อง 4 เครื่อง ผู้ให้บริการ 5 คน

    • ชั้น 2 บริเวณห้องวารสารและหนังสือพิมพ์ มีเครื่อง 2 เครื่อง ผู้ให้บริการ 2 คน

    • ชั้น4 ห้องหนังอ่านมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร มีเครื่อง 3 เครื่อง ผู้ให้บริการ 3 คน

    • ชั้น 5 ห้องอ่านสังคมศาสตร มีเครื่อง 3 เครื่อง ผู้ให้บริการ 3 คน

    • ชั้น 6 ศูนย์เอกสารประเทศไทย มีเครื่อง 1 เครื่อง ผู้ให้บริการ 1 คน 
      รวมเครื่องให้บริการทั้งสิ้น 13 เครื่อง ผู้ให้บริการ 14 คน และจากสถิติการใช้บริการถ่ายเอกสาร ผู้รับบริการจะถ่ายเอกสารมากที่ชั้น 1 ศูนย์บริการฯ จึงได้จัดสรรเครื่องให้บริการที่ชั้น 1 มากกว่าชั้นอื่นๆ พร้อมจัดระบบการให้บัตรคิวแก่ผู้รับบริการทุกจุด 

    สำหรับการเปิด-ปิดบริการนั้นศูนย์บริการฯให้บริการดังนี้ วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00-20.45 น. วันเสาร์ตั้งแต่เวลา 9.00-15.45 น. ซึ่งจะปิดบริการก่อนเวลาปิดบริการของสถาบันฯ 15 นาที โดยเป็นการปิดรับบริการงานใหม่เท่านั้น แต่สำหรับผู้รับบริการที่ให้ถ่ายเอกสารก่อนหน้านั้นสามารถรับงานได้ถึงเวลาปิดทำการของสถาบันฯ 

    นอกจากนั้นศูนย์บริการฯแจ้งว่าได้ทำการประเมินการใช้บริการการถ่ายเอกสารตั้งแต่ศูนย์บริการฯเข้าดำเนินการและเห็นว่าจำนวนเครื่องและจำนวนบุคลากรที่ให้บริการยังอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับการใช้บริการของผู้รับบริการ เพียงแต่มีบางช่วงเท่านั้นที่ลูกค้าจะมากในบางชั้น เช่น เวลา 10.00-16.00 น. และช่วงก่อนปิดบริการสถาบันฯผู้รับบริการจะมากที่ชั้น 1 และชั้น 6 เป็นต้น ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวผู้รับบริการสามารถใช้บริการที่ชั้นใกล้เคียงได้เช่นกัน

  2. ค่าถ่ายเอกสารที่ศูนย์เอกสารประเทศไทยแพงกว่าส่วนอื่นๆในสถาบันฯ
    ค่าถ่ายเอกสารที่ศูนย์บริการวิชัยยุทธจัดเก็บจากผู้รับบริการจะเป็นอัตราเดียวกันทุกจุดที่ให้บริการในสถาบันฯ และตามราคามาตรฐานในท้องตลาดทั่วไป ดังนี้

    • A4 หน้าละ 0.50 บาท

    • F4 หน้าละ 0.75 บาท

    • B4 หน้าละ 1.00 บาท

    • A3 หน้าละ 1.50 บาท

    • ย่อ/ขยาย หน้าละ 2.00 บาท

    • แผ่นใส หน้าละ 9.00 บาท

    ทั้งนี้ศูนย์บริการฯ ได้จัดทำประกาศอัตราการจัดเก็บค่าถ่ายเอกสารข้างต้นไว้ในทุกจุดที่ให้บริการ ผู้รับบริการสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้จากประกาศดังกล่าว

  3. พนักงานถ่ายเอกสารที่ชั้น 1 เลือกปฏิบัติในเรื่องการเก็บค่ามัดจำ
    สถาบันฯได้ประสานเรื่องการเรียกเก็บค่ามัดจำที่ไม่เป็นธรรมไปยังศูนย์บริการวิชัยยุทธแล้ว ศูนย์บริการฯ แจ้งว่ามีความจำเป็นต้องเก็บค่ามัดจำในการถ่ายเอกสารเนื่องจากผู้รับบริการที่ถ่ายเอกสารจำนวนมากแล้วไม่มารับงาน แต่การเรียกเก็บค่ามัดจำที่ผ่านมายังไม่มีบรรทัดฐานให้ผู้ให้บริการถือปฏิบัติ ซึ่งทางศูนย์บริการฯขอน้อมรับคำร้องเรียนนั้น พร้อมกันนี้ได้กำหนดให้ทุกจุดบริการในสถาบันฯปฏิบัติเรื่องการเก็บค่ามัดจำ ดังนี้ เมื่อผู้รับบริการมาใช้บริการถ่ายเอกสาร และผู้ให้บริการประเมินราคาแล้วว่าการถ่ายเอกสารครั้งนั้นมียอดค่าถ่ายเอกสารตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บค่ามัดจำไว้ 50% และเมื่อผู้รับบริการมารับเอกสารที่ถ่ายเอกสารเรียบร้อยแล้ว ผู้รับบริการต้องจ่ายเพิ่มในส่วนที่เหลือ 

  4. พนักงานถ่ายเอกสารผู้หญิงที่ปฏิบัติงานชั้น 1 กริยามารยาทไม่เรียบร้อย พูดจาไม่สุภาพกับลูกค้า
    ศูนย์บริการวิชัยยุทธได้รับแจ้งเรื่องดังกล่าวจากสถาบันฯ และได้ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ให้บริการรายที่ถูกร้องเรียนแล้วพบว่าเป็นจริงตามที่ได้รับคำร้องเรียน จึงได้ให้พนักงานคนดังกล่าวลาออกจากงาน พร้อมจัดพนักงานคนใหม่มาให้บริการทดแทนแล้วตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2546 พร้อมทั้งอบรมและสร้างมาตรฐานในการรับงานให้แก่พนักงานทุกคนในทุกจุดบริการแล้ว

คำถาม     ปัญหาลิฟท์โดยสารไม่จอดรับเมื่อเรียกใช้

คำตอบ      ระบบลิฟท์โดยสารของสถาบันวิทยบริการเป็นระบบ GROUP CONTROL โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปซึ่งประมวลผล และกำหนดลิฟท์ตัวที่จะมารับผู้โดยสารที่มีการกดเรียกลิฟท์ด้วยระบบเอง ซึ่งบางครั้งระบบ GROUP อาจจะไม่ได้กำหนดลิฟท์ตัวที่อยู่ใกล้กับผู้โดยสารให้มารับ และบางครั้งอาจจะมีการวิ่งผ่านโดยไม่ได้จอดรับผู้โดยสาร ทั้งนี้เนื่องจากระบบ GROUP จะมี FUNCTION ของการคำนวณให้ลิฟท์มีการใช้งานอย่างประหยัดพลังงาน กล่าวคือมอเตอร์เมื่อมีการสตาร์ทจะกินไฟมากกว่ามอเตอร์ที่กำลังทำงานอยู่ ดังนั้นลิฟท์ตัวที่อยู่ใกล้ผู้เรียกแต่จอดอยู่จึงไม่วิ่งมารับผู้โดยสาร แต่จะเรียกให้ลิฟท์ที่กำลังทำงานอยู่มารับผู้โดยสารแทน ส่วนการวิ่งผ่านนั้น เกิดจาก FUNCTION FULL LOAD BY PASS กล่าวคือเมื่อลิฟท์มีน้ำหนักบรรทุกเกิน 80% ของน้ำหนักบรรทุก ระบบ GROUP จะสั่งให้ลิฟท์วิ่งผ่านโดยไม่แวะรับผู้โดยสารเพิ่ม เนื่องจากหากจอดแวะรับก็จะไม่สามารถบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มได้ ระบบดังกล่าวทำให้ผู้รอลิฟท์คิดว่าลิฟท์มีปัญหา ไม่ยอมแวะรับ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการทำงานปกติของระบบลิฟท์

 

คำถาม     ควรจัดบริการสถานที่ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการด้วย

คำตอบ      ทางสถาบันฯมีนโยบายในการดำเนินงานปรับปรุงอาคารสถานที่เพื่อประโยชน์ดังกล่าวอยู่แล้ว แต่อยู่ในระหว่างรอจัดสรรงบประมาณ อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการได้เอาใจใส่และช่วยเหลือผู้รับบริการที่มีความบกพร่องทางร่างกายทุกราย ทุกกรณีอยู่แล้ว

วันที่ติดบอร์ด    17 กรกฎาคม 2546

คำถาม     ชั้นหนังสือควรมีเลขระบุในแต่ละชั้นย่อย

คำตอบ      โดยปกติแล้วตู้หนังสือในแต่ละห้องอ่านจะมีหมายเลขตู้และเลขหมู่ของตู้นั้นๆกำกับอยู่ เช่น ตู้ที่ 1 001 ก - 010 ฮ แต่ละตู้ประกอบด้วยชั้นหนังสือ 5 ระดับ ส่วนนี้ห้องสมุดได้แสดงเลขหมู่ย่อยให้แล้วในชั้นที่หนังสือถูกนำออกใช้มากเป็นพิเศษ ชั้นที่มีหนังสือหมวดหมู่ย่อยละเอียดมาก ตลอดจนชั้นที่มีหนังสือประเภทเล่มบางๆ ดูเลขหมู่ลำบาก อย่างไรก็ตามจะได้นำข้อเสนอแนะของท่านมาพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมต่อไป

 

คำถาม     ควรเปิดบริการยืมหนังสือหายากถึงเวลา 21.00 น.

คำตอบ      ห้องอ่านหนังสือหายากและสิ่งพิมพ์พิเศษเป็นห้องอ่านเดียวกัน เปิดบริการถึง 21.00 น. แต่เนื่องจากหนังสือหายากเป็น Collection พิเศษ ดังที่ได้แนะนำไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์ ดังนั้นผู้ให้บริการและผู้รับบริการจึงต้องช่วยกันถนอมรักษาและใส่ใจในการหยิบใช้ เพื่อยืด/ชะลออายุการใช้งานต้นฉบับหนังสือหายากแก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป ทำให้ต้องมีการซักถามและกรอกแบบฟอร์มขอรับบริการ หากผู้ให้บริการซักถามหรืออธิบายรายละเอียดมากเกินไปสำหรับท่านต้องขออภัยด้วย แต่ถ้าท่านได้กรอกแบบฟอร์มถูกต้อง ชัดเจนแล้ว ปัญหานี้จะลดน้อยลงไป ในเรื่องการบริการนอกเวลาราชการจะมีเจ้าหน้าที่จากจุดบริการ/ฝ่ายอื่นๆมาหมุนเวียนการให้บริการ และสามารถให้บริการได้ตามปกติ แต่บางครั้งช่วงเวลา 19.00-21.00 น. จะมีการหมุนเวียนผู้ให้บริการอีกรอบหนึ่ง หากการขอใช้บริการมีเงื่อนไขหรือต้องค้นหาเป็นกรณีพิเศษ คงต้องขอให้มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ประจำในโอกาสต่อไป ถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วนมากโปรดกรอกแบบฟอร์มไว้ ผู้ให้บริการจะประสานงานกันในช่วงเช้า และรีบดำเนินการให้โดยเร็วที่สุด โดยท่านอาจมอบหมายเลขโทรศัพท์ไว้ให้ หรือโทรศัพท์เข้ามาที่ห้องหนังสือหายากได้

 

คำถาม     การยืมสิ่งพิมพ์และยึดบัตรประจำตัวไว้ ทำให้ไม่สามารถไปใช้บริการห้องสมุดคณะได้ 

คำตอบ      การให้บริการของสถาบันฯที่เป็นระบบชั้นปิด หมายความว่าต้องมีการติดต่อกับผู้ให้บริการ และเมื่อได้รับทรัพยากรสารสนเทศที่ร้องขอแล้ว ต้องมอบหลักฐานที่มีรูปถ่ายของผู้ขอรับบริการไว้ให้จนกว่าการใช้งานจะแล้วเสร็จ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นบัตรประจำตัวนิสิต จะเป็นบัตรสมาชิกอื่นๆก็ได้ที่มีรูปถ่ายตรงกับผู้ขอรับบริการ เช่น บัตรประชาชน บัตรข้าราชการครู เป็นต้น หากท่านนำบัตรติดตัวมาเพียงบัตรเดียวและมีความประสงค์จะไปใช้บริการอื่น คงต้องรีบใช้งานให้เสร็จ หรือนำส่งคืนก่อน ห้องสมุดคงไม่สามารถคืนบัตรแก่ท่านในขณะที่ยังไม่ได้รับทรัพยากรห้องสมุดคืน เพราะเป็นความไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สินของราชการเป็นอย่างยิ่ง

วันที่ติดบอร์ด    10 กรกฎาคม 2546

คำถาม     บุคคลภายนอกหาหนังสือไม่ได้รับคำแนะนำเลย ควรมีการแนะนำวิธีการใช้ เพราะบุคคลภายนอกไม่เคยเข้าห้องสมุดจุฬาฯ ควรมีแผ่นป้ายแนะนำการใช้บ้าง 

คำตอบ      ห้องสมุดยินดีให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุดและวิธีการสืบค้นข้อมูล สำหรับผู้รับบริการทุกประเภทรวมถึงบุคคลภายนอก โปรดติดต่อขอรับบริการดังกล่าว ณ เคาน์เตอร์บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า ชั้น 1 (ตรงข้ามเคาน์เตอร์ยืม-คืน) หมายเลขโทรศัพท์ 0-2218-2929 E-mail : Samorn.K@car.chula.ac.th

 

คำถาม     การหาข้อมูลหรือหนังสือจาก Computer หายาก 

คำตอบ      ห้องสมุดยินดีให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุดและวิธีการสืบค้นข้อมูล สำหรับผู้รับบริการทุกประเภทรวมถึงบุคคลภายนอก โปรดติดต่อขอรับบริการดังกล่าว ณ เคาน์เตอร์บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า ชั้น 1 (ตรงข้ามเคาน์เตอร์ยืม-คืน) หมายเลขโทรศัพท์ 0-2218-2929 E-mail : Samorn.K@car.chula.ac.th

 

คำถาม     ขอเสนอแนะหนังสือต่อไปนี้

คำตอบ      จะดำเนินการจัดซื้อต่อไปค่ะ

 

คำถาม     ไม่มีวารสารที่ต้องการ ควรหาเพิ่มเติมให้ครบทุกสาขา มีแต่หนังสือเก่าๆ 

คำตอบ      ขอเชิญชวนให้เสนอชื่อวารสารภาษาไทยที่ดีมีคุณค่าสมควรที่จะบอกรับ ถ้าเป็นวารสารเฉพาะด้านก็จะได้เสนอให้ห้องสมุดคณะพิจารณาต่อไปให้ค่ะ สำหรับวารสารภาษาอังกฤษนั้นเรามีฐานข้อมูลวารสารฉบับเต็มให้ใช้หลายชื่อ เช่น Emerald, Springer LINK, ScienceDirect, ACS, IEEE, PsycARTICLES ฯลฯ กรุณาสอบถามบรรณารักษ์เพิ่มเติมได้ค่ะ

 

คำถาม     คำชี้แจงของทางห้องสมุดในลักษณะที่ว่าจะไม่ซื้อหนังสือซ้ำซ้อนกับห้องสมุดคณะเพื่อประหยัดงบประมาณหรืออยากอ่านอะไรก็ไปอ่านที่ห้องสมุดคณะที่เปิดสอน
วิชานั้น ถือเป็นคำชี้แจงที่ไม่สมเหตุสมผล และเป็นการปัดความรับผิดชอบ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะหอสมุดกลางและห้องสมุดคณะเป็นหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ตลาดหนังสือเมืองไทยคับแคบหาหนังสือที่ไม่ซ้ำซ้อนกันแทบไม่ได้ ห้องสมุดคณะแต่ละคณะอยู่ห่างไกลกันเวลาเปิดปิดก็ไม่ตรงกัน และไม่ค่อยเต็มใจบริการนิสิตนอกคณะ ฯลฯ (สรุปความจากคำถาม) 

คำตอบ      ขอชี้แจงดังนี้
หอสมุดกลางและห้องสมุดคณะแม้จะแยกการบริหารงานกันแต่ก็ร่วมมือกันเพื่อดำเนินงานห้องสมุดให้เป็นไปด้วยดี มีการแบ่งหน้าที่จัดหาทรัพยกรฯให้แตกต่างกันโดยเฉพาะหนังสือภาษาต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง (หนังสือภาษาไทยไม่เข้มงวดมากนัก) ด้วยแต่ละแห่งได้รับงบประมาณจำกัด จึงต้องใช้ทรัพยากรร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็น เช่น เป็นหนังสือเนื้อหากลาง ๆ และมีผู้ใช้จำนวนมาก เราก็ยินดีซื้อเพิ่มเติมให้สถาบันฯมี "สื่ออิเล็กทรอนิกส์ฐานข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัย" ไว้ให้บริการประมาณ 115 ฐาน สารสนเทศในฐานข้อมูลเหล่านี้มีจำนวนมหาศาลทุกสาขา ทั้งสาขาเฉพาะและสหสาขาไม่ได้จำกัดเฉพาะสาขาเหมือนกับสิ่งพิมพ์ ข้อมูลมีความทันสมัยมาก สืบค้นได้สะดวกรวดเร็วทั้งที่หอสมุดกลางและห้องสมุดคณะ รวมทั้งจุดที่มีคอมพิวเตอร์ที่ต่อเชื่อมกับ Chulanet ได้ เนื้อหามีทั้งระดับลึกและกว้าง จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนทุกระดับ รวมทั้งการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย แม้ค่าบอกรับจะสูงมากแต่ก็ต้องบอกรับโดยใช้งบประมาณของสถาบันฯส่วนหนึ่ง รวมทั้งบอกรับร่วมกับห้องสมุดคณะ อีกทั้งพยายามผลักดันให้ทบวงมหาวิทยาลัยบอกรับฐานข้อมูลที่สำคัญเพื่อให้มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งจุฬาฯได้ใช้ ลองใช้ดูนะคะหากมีข้อสงสัยใดเกี่ยวกับสถาบันฯ นอกจากจะสอบถามมาทางกล่องรับความคิดเห็นแล้ว ขอให้ลองสอบถามที่บริการตอบคำถามฯ ด้วย เพราะท่านจะได้คำตอบที่ชัดเจน ตรงจุดมุ่งหมายและรวดเร็วกว่า