ท่านถาม-เราตอบ

ประจำเดือน พฤษภาคม 2545


วันที่ติดบอร์ด    16 พฤษภาคม 2545

คำถาม     ไม่สะดวกในการค้นหาหนังสือที่จัดไว้ชั้นล่างสุดของตู้หนังสือ

คำตอบ     สถาบันฯขออภัยสำหรับเจ้าของคำถามนี้ด้วย สถาบันฯไม่ได้ละเลยในการใส่ใจสำหรับบุคคลพิเศษที่มีปัญหาทางด้านร่างกาย ทำให้ไม่สะดวกในการลุก-นั่งที่จะหยิบหนังสือชั้นล่างสุด แต่เนื่องจากสถาบันฯมีพื้นที่จำกัดในการจัดเก็บและให้บริการทรัพยากรสารสนเทศเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งได้จัดสรรไว้เป็นพื้นที่สำหรับนั่งค้นคว้า รองรับผู้ใช้บริการที่เป็นจำนวนมากเช่นกัน หากยกเว้นการจัดเรียงหนังสือชั้นล่างสุดจากจำนวนตู้หนังสือ 1,447 ตู้เสียแล้ว ย่อมส่งผลกระทบให้มีการขยายพื้นที่การจัดเก็บมากขึ้น และพื้นที่นั่งค้นคว้าจะลดน้อยลงไปมาก ทั้งนี้ผู้ให้บริการทุกท่านยินดีให้ความช่วยเหลือในการช่วยค้นหาหนังสือ / หยิบเล่มที่ต้องการให้ได้เสมอ แต่…ที่มีการตักเตือนไม่ให้นั่งเลือก/อ่านหนังสือบนพื้นนั้น เพราะทำให้ผู้รับบริการคนอื่นๆไม่สะดวกในการค้นหาหนังสือเช่นเดียวกัน และบางครั้งพบว่า…ผู้ให้บริการได้รับการปฏิเสธการช่วยเหลือในกรณีพิเศษเช่นนี้ ซึ่งเข้าใจว่าท่านเหล่านี้มีความภาคภูมิใจที่จะทำอะไรได้ด้วยตนเอง สถาบันฯเชื่อมั่นว่าทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการด้วยกันเอง มีความจริงใจและเต็มใจที่จะช่วยเหลือทุกท่านเสมอ.

 

คำถาม     เสนอนโยบายให้นิสิตยืมแผ่น CD-ROM ที่มากับหนังสือไปศึกษาที่บ้านได้ เพราะเครื่องที่จัดให้บริการไม่สามารถใช้โปรแกรมบางโปรแกรมได้

คำตอบ     ขณะนี้ทางสถาบันฯยังไม่มีนโยบายให้ผู้รับบริการยืมแผ่น CD-ROM ไปศึกษาที่บ้าน แต่ได้จัดเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ให้บริการ ซึ่งสมรรถนะของคอมพิวเตอร์อาจจะไม่สามารถรองรับโปรแกรมใหม่ๆได้ทุกโปรแกรม ซึ่งได้ดำเนินการของบประมาณจัดซื้อคอมพิวเตอร์ทดแทนแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถจัดซื้อคอมพิวเตอร์มาทดแทนได้ อย่างไรก็ตามทางสถาบันฯจะรีบนำข้อเสนอนี้พิจารณาดำเนินการโดยเร็ว

 

คำถาม     ควรเปลี่ยนคอมพิวเตอร์บริการในห้องสมุดที่ทำงานช้า และทำไมจึงใช้แผ่นดิสเก็ตบันทึกข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ไม่ได้

คำตอบ     สถาบันวิทยบริการได้ดำเนินการของบประมาณคอมพิวเตอร์ทุกปีเพื่อทดแทน/เพิ่มเติม แต่สถาบันฯได้รับการจัดสรรงบประมาณคงที่จากปีที่ผ่านมา ประกอบกับค่าใช้จ่ายในส่วนของงบประมาณด้านการดำเนินงานสูงขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมของการบริหารจัดการงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการจัดหาคอมพิวเตอร์ได้ตามแผนที่จัดทำไว้ จึงมีคอมพิวเตอร์บางส่วนที่มีสมรรถนะไม่เพียงพอ แต่ยังคงสามารถใช้บริการได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามทางสถาบันฯตระหนักถึงความสำคัญของผู้รับบริการอยู่เสมอ และจะรีบเร่งดำเนินการในเรื่องนี้อย่างแข็งขันต่อไป ในส่วนของการใช้แผ่นดิสเก็ตบันทึกข้อมูลไม่ได้ จากคำถามนี้ทางสถาบันฯเข้าใจว่าหมายถึงการบันทึกข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นบริการ OPAC นั้น ทางสถาบันฯจะพิจารณาข้อเสนอนี้ต่อไป

 

วันที่ติดบอร์ด    2 พฤษภาคม 2545

คำถาม     ควรจัดบริการวิทยานิพนธ์ในระบบชั้นเปิดเหมือนหนังสือทั่วไป

คำตอบ    สถาบันฯ เข้าใจดีว่าข้อเสนอแนะของท่านนั้น เพื่อต้องการความสะดวกรวดเร็วในการเห็นและใช้ตัวเล่มวิทยานิพนธ์ด้วยตนเอง เป็นการค้นคว้าอย่างมีอิสระ เลือกใช้ได้ตามต้องการ แต่สถาบันฯ ขอให้ท่านช่วยกันทบทวนพฤติกรรมการใช้เมื่อทุกคนสามารถหยิบวิทยานิพนธ์ได้ด้วยตนเองจากชั้น ดังนี้ :-

  1. ผู้รับบริการบางคนจะหยิบไปครั้งละหลายๆเล่ม นำไปค้นคว้าที่โต๊ะในห้องวิทยานิพนธ์ เมื่อเลิกใช้แล้วก็วางเอาไว้เต็มไปหมดบนโต๊ะ หรือ นำไปใช้ที่ชั้นอื่นๆภายในสถาบันฯ เมื่อใช้เสร็จแล้วก็ไม่ได้นำกลับมาที่ห้องวิทยานิพนธ์ ทำให้ตัวเล่มกระจัดกระจาย

  2. ผู้รับบริการส่วนใหญ่นำไปถ่ายเอกสาร ซึ่งมีบริการที่ชั้น 1 และชั้นอื่นๆด้วย อีกจำนวนเป็นร้อยเล่ม เมื่อถ่ายเอกสารแล้วก็อาจไม่นำกลับมาที่ห้องวิทยานิพนธ์

  3. ผู้รับบริการที่มีความปรารถนาดีเมื่อใช้เสร็จแล้ว ได้นำไปเก็บไว้ที่ชั้น อาจเก็บไว้ที่เดิม หรือเก็บไม่ถูกที่ไม่ถูกต้อง

  4. ผู้รับบริการที่คาดหวังว่าจะกลับมาใช้ตัวเล่มเล่มนี้อีก แต่กลัวว่าจะไม่พบตัวเล่มครั้งต่อไป อาจมีการนำไปซ่อนในชั้นวิทยานิพนธ์ หรือที่ชั้นหนังสืออื่นๆในสถาบันฯ

  5. ผู้ให้บริการต้องเดินตามเก็บตัวเล่มจากที่ต่างๆ และนำมาจัดเก็บขึ้นชั้นตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อความต้องการของผู้รับบริการ

พฤติกรรมการใช้เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของการไม่พบตัวเล่มที่ต้องการเมื่อมาใช้บริการทั้งสิ้น และนำไปสู่ปัญหาของความคับข้องใจ การสูญเสียเวลา และความชำรุดเสียหายของตัวเล่มอย่างรวดเร็ว ดังนั้นสถาบันฯ จึงเล็งเห็นแล้วว่านโยบายการให้บริการในปัจจุบัน จึงเป็น วิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันทุกฝ่าย และทำให้ Collection วิทยานิพนธ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความสมบูรณ์ครบถ้วนตลอดเวลาที่ต้องการใช้งาน ส่วนคำติเตียนเรื่องความล่าช้านั้น วิเคราะห์แล้วน่าจะมีสาเหตุ ดังนี้

  1. ผู้ให้บริการไม่พอเพียง

  2. มีผู้รับบริการต่อเนื่องกันตลอดวัน

  3. ผู้รับบริการระบุข้อมูลไม่ชัดเจน / ไม่ถูกต้อง

  4. ผู้รับบริการไม่ได้ตรวจสอบจากฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ก่อนใช้บริการ

  5. ผู้รับบริการคาดหวังความรวดเร็วในการรับบริการไว้สูงมาก

ซึ่งสถาบันฯ ได้ดำเนินการหมุนเวียนบุคลากรมาช่วยงานเพิ่มขึ้นแล้ว และย้ำเตือนให้ใส่ใจในการให้บริการ อดทนอดกลั้น ยิ้มแย้มแจ่มใส ตลอดจนให้บริการเสมอภาคกัน ทั้งนี้ หากผู้รับบริการทั้งหลายปฏิบัติตามระเบียบการใช้ มีการตรวจสอบจากฐานข้อมูลทุกครั้ง สร้างความคุ้นเคยในการสืบค้นข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ การหยิบตัวเล่มจะมีความรวดเร็วขึ้นมาก ผู้ให้บริการไม่ต้องเสียเวลาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดความสบายใจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ให้บริการไม่หงุดหงิด ผู้รับบริการก็พึงพอใจ และเกิดประโยชน์แก่ผู้รอรับบริการคนต่อๆไปด้วย

ในครั้งนี้จึงขอเสนอสถิติการบริการเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้

รายการ   

 มกราคม 45

 กุมภาพันธ์ 45

 มีนาคม 45

จำนวนการใช้ตัวเล่ม (เล่ม)   

 9,245

 8,057

 7,544

เฉลี่ยการใช้ : วัน (เล่ม)   

 385

 335

 314

จำนวนผู้รับบริการ (ราย)   

 4,210

 3,514

 3,655

บุคคลภายนอกที่ใช้บริการ (ราย)   

 2,111

 1,716

 2,073

จะเห็นได้ว่ามีผู้รับบริการเป็นบุคคลภายนอกสูงมาก และสถาบันฯ ก็ยินดีให้บริการตลอดมา ความคิดเห็นครั้งนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากบุคคลภายนอกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากสถาบันฯ พบวิธีการใดที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแล้ว จะรีบดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโดยทันที ขอขอบคุณทุกๆความคิดเห็นมา ณ ที่นี้ด้วย